ประวัติความเป็นมา

  • ในด้านประวัติความเป็นมาของวงพิณแคนประยุกต์ในจังหวัดนครปฐม พบว่ามีการ
    สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่เมื่อครั้งสมัยอดีต ซึ่งเริ่มต้นจากวงกลองยาวพื้นบ้านได้พัฒนาต่อยอดมาจนเป็นวงพิณแคนประยุกต์.. ที่ตำบลลำเหย อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม นับได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีวงพิณแคนประยุกต์อยู่หลายคณะ จุดสังเกตอีกแง่มุมคือนักดนตรีในวงพิณแคนประยุกต์ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาติพันธ์เชื้อสายลาวครั่ง ซึ่งชุมชนเชื้อสายลาวครั้งนี้ได้กระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดนครปฐม นอกจากมีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นในกลุ่มของนักดนตรีด้วยกันแล้ว ยังมีองค์กรที่เป็นเครือข่ายทางดนตรีพิณแคนประยุกต์ กล่าวคือ การที่โรงเรียนวัดลำเหย ตำบลลำเหย อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม โดย ดร.อนวัช นกดารา หรือที่ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าครูอุบล ซึ่งเป็นข้าราชการครูโรงเรียนวัดลำเหย เป็นผู้ที่สร้างสรรค์สนับสนุนส่งเสริมศิลปะการแสดงโปงลาง โดยนำนักเรียนไปฝึกฝนการเล่นเครื่องดนตรีอีสาน เช่น พิณ แคน โปงลาง ฯ ตลอดจนศิลปะการร่ายรำ และตั้งวงโปงลางของโรงเรียนวัดลำเหยขึ้น มีชื่อวงว่า “ศรีอุบลโปงลาง” ซึ่งได้แสดงทั้งงานภายในโรงเรียนและในชุมชนตามโอกาสต่างๆ จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป
  • จากการที่วงพิณแคนประยุกต์ฯ ได้มีการสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นภายในครอบครัว
    เครือญาติ เมื่อมาผนวกกับลูกหลานเยาวชนที่เป็นนักเรียนที่เล่นดนตรีอยู่ในวง “ศรีอุบลโปงลาง” ของโรงเรียนวัดลำเหยที่มีทักษะในการแสดงดนตรีพื้นบ้าน ส่งผลให้เด็กลูกหลานเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการสืบทอดวงพิณแคนประยุกต์ของชุมชนลำเหย วงพิณแคนประยุกต์นอกจากจะพบได้มากที่ชุมชนตำบลลำเหยแล้ว ยังมีอยู่กระจายทั่วไปในจังหวัดนครปฐม แต่ก็น้อยกว่าที่ชุมชนตำบลลำเหย จึงกล่าวได้ว่าชุมชนตำบลลำเหยเป็นชุมชนที่มีวงพิณแคนประยุกต์มากที่สุดในจังหวัดนครปฐม และเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

ภาพ : อาจารย์วิศิษ แก้วเอี่ยม  ลงพื้นที่เก็บข้อมูล

วิศิษ แก้วเอี่ยม และสุจิรา สุขวัฒน์. (2560). “การพัฒนาวงดนตรีพื้นบ้านพิณแคนประยุกต์สู่ความยั่งยืนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นในจังหวัดนครปฐม.” งานวิจัยศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยคริสเตียน. นครปฐม.