การศึกษาประวัติศาสตร์บ้านเมืองในสมัยโบราณจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาถึงสภาพลักษณะภูมิประเทศ สิ่งแวดล้อมกายภาพ เนื่องจากการเวลาอันยาวนานย่อมก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อภูมิประเทศ จนบางครั้งอาจไม่เหลือร่องรอยเดิมอยู่เลย สำหรับจังหวัดนครปฐมปัจจุบันจุตั้งอยู่ห่างจากฝั่งทะเลอ่าวไทยประมาณ 42.5 กิโลเมตร แต่จากการศึกษาตำแหน่งเมืองโบราณและแนวชายฝั่งทะเลเดิมของ ทิวา ศุภจรรยา และ ผ่องศรี วนาสิน ได้ผลสรุปว่า บริเวณเมืองนครปฐมในอดีตย้อนหลังไปสมัยทวารวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 – 16 ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งทะเล และเมื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์กับตำแหน่งเมืองโบราณจำนวน 63 เมือง บริเวณที่ราบเจ้าพระยาตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครสรรค์ถึงอ่าวไทย จะพบว่าเมืองโบราณเหล่านี้ล้วนตั้งอยู่รอบอ่าวในระดับความสูง 3.50 – 4 เมตรขึ้นไป ขณะเดียวกันยังพบเมืองโบราณ 20 เมือง มีเส้นทางติดต่อกับทะเลได้โดยตรง และบางเมืองเป็นเมืองชายฝั่งทะเลที่มีเรือเดินสมุทรเข้าจอดได้ถึงตัวเมือง เช่น เมืองพระประโทณ (นครปฐม) เมืองศรีมหาโพธิ์ (ปราจีนบุรี) เป็นต้น
แผนที่แสดงที่ตั้งเมืองโบราณและแนวฝั่งทะเลสมัยโบราณ – สมัยทวารวดี
มีหลักฐานอื่นอีกหลายประการที่สามารถใช้สนับสนุนการเป็นเมืองริมทะเลของเมืองนครปฐมโบราณ เช่น ในการศึกษาทางโบราณคดีได้พบสมอเรือขนาดใหญ่ในเขตวัดธรรมศาลา ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สมัยทวารดี และในเขตท้องที่อำเภอกำแพงแสนปัจจุบันมีราษฎรกลุ่มหนึ่งประกอบอาชีพขุดทรายขายเป็นเวลานาน แสดงให้เห็นเค้าว่าในอดีตภูมิประเทศแถบนี้ต้องเคยเป็นหาดทราย ต่อมาตะกอนทับถมกันมากจนตื้นเขินและกลายสภาพเป็นแผ่นดิน หรือสังเกตจากชื่อหมู่บ้านในอำเภอต่างๆ ของจังหวัดนครปฐม ที่น่าจะโยงใยไปถึงสภาพอันแท้จริงในอดีตได้เพราะปกติมนุษย์มักเรียกชื่อถิ่นที่อยู่อาศัยตามลักษณะสิ่งแวดล้อม และเรียกสืบกันมายาวนานแม้บางครั้งท้องถิ่นนั้นจะไม่มีสภาพดั้งเดิมเหลืออยู่ ชื่อหมู่บ้านในจังหวัดนครปฐมที่สะท้อนลักษณะภูมิประเทศแบบพื้นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังสลับกับที่ดอน ปรากฏชื่อหมู่บ้านจำนวนมากขึ้นต้นด้วยคำว่า “หนอง” “ดอน” และ “เกาะ” เช่น หนองงูเหลือม ดอนยายหอม เกาะแรด ฯลฯ
เมืองนครปฐมโบราณตั้งอยู่บริเวณภูมิประเทศที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ โดยมีลำน้ำใหญ่ไหลแยกตัวออกจากแม่น้ำแม่กลองทางทิศตะวันตก 2 สาย และไหลลงสู่ทะเลทางทิศตะวันออกพร้อมกับแตกสาขาออกเป็นลำคลองใหญ่น้อยมากมาย ปัจจุบันลำน้ำขนาดใหญ่ก็ยังปรากฏให้เห็นได้ คือ
1. ลำน้ำห้วยาง แยกมาจากแม่น้ำแม่กลองที่บ้านท่าเรือ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ปัจจุบันไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนที่ อ.บางเลน
2. ลำน้ำบางแขม ไหลแยกจากแม่น้ำแม่กลองที่บ้านท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนที่ อ.สามพราน
ปัจจัยอีกประการเป็นความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินอันเกิดจาการทับถมของตะกอนดินที่หลั่งไหลมากับสายน้ำเมื่อฤดูน้ำหลาก ซึ่งนอกจากจะทำให้การเพาะปลูกได้ผลดีแล้วยังมีสัตว์น้ำสัตว์บกอีกนานาชนิด ภาพความอุดมสมบูรณ์ของเมืองนครปฐมโบราณอาจเทียบเคียงได้กับข้อเขียนของสังฆราชปาลเลกัวช์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสตร์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวท่านได้บรรยายถึงความ
อุดมสมบูรณ์ของที่ราบลุ่มเจ้าพระยาไว้ว่า
สมบูรณ์ยิ่งไปกว่าประเทศสยามหรือหาไม่ โคลนตมของแม่น้ำ
ได้ทำให้ผืนแผ่นดินอุดมไปด้วยปุ๋ย ทุกๆปี โดยแทบจะไม่ต้อง
บำรุงดินเลยก็ได้ต้นข้าวกอใหญ่อันมีรสดีวิเศษ…ในเวลา
น้ำท่วม จำนวนปลาได้เพิ่มพูนขึ้นอย่างนับไม่ถ้วนในท้องทุ่งตาม
กอกกและแพผัก ครั้นน้ำลดลงฝูงปลาก็จะเคลื่อนย้ายไหล
ตามน้ำไปลงแม่น้ำลำคลองด้วย มากมายก่ายกองราวกับฝูงมด
ด้วยประการฉะนี้ ในแม่น้ำลำคองจึงคลาคล่ำไปด้วยนกกะสา
นกกาน้ำ นกกระทุง เป็ด และนกน้ำอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก…“
สรุป เมืองนครปฐมเมื่อครั้งอดีตนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 ขึ้นไป มีสภาพภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเล ซึ่งเหมาะสำหรับการติดต่อค้าขายกับดินแดนภายนอก ทั้งด้านมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ นอกจากนี้พื้นแผ่นดินยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร และสัตว์น้ำนานาชนิด อันเป็นผลมาจากการมีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน ดังนั้นบริเวณเมืองนครปฐมจึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ที่จะเคลื่อนย้ายมาตั้งหลักแหล่งและสรรสร้างความเจริญ
จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่าเมืองโบราณสมัยทวารวดีกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งจากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศได้พบเมืองสมัยนี้ถึง 63 เมือง โดยจะหนาแน่นบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ทั้งซีกตะวันตกและตะวันออก เมืองที่สำคัญรู้จักกันดี เช่น หริภุญชัย ละโว้ ฟ้าแดดสูงยาง จันทเสน อู่ทอง นครไชยศรี คูบัว ศรีมโหสถ ศรีเทพ ไชยา เป็นต้น เมืองเหล่านี้ต่างดำรงความเป็นเมืองอิสระ มีลักษณะที่เมืองใหญ่น้อยทั้งหลายมีความสำคัญเท่าเทียมกัน แต่ละเมืองปกครองโดยผู้นำในท้องถิ่นที่มีอำนาจสิทธิ์ขาดของตน และยังไม่เป็นรูปแบบของการรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภายใต้ผู้อำนาจการควบคุมของพระมหากษัตริย์ที่เมืองใดเมืองหนึ่งซึ่งเป็นเมืองหลวงหรือเมืองราชธานี
ภาพแสดงที่ตั้งเมืองโบราณสมัยสุวรรณภูมิ – สมัยทวารวดี
อย่างไรก็ตามก็มิได้หมายความว่าเมืองในสมัยทวารวดีจะดำรงความเป็นเมืองโดดเดี่ยวชนิดเมืองใครเมืองมันทั้งหมด หากย่อมมีเมืองที่ทรงอิทธิพลเหนือกว่าครอบงำเมืองที่ด้อยกว่าไว้ จนเกิดการรวมเป็นกลุ่มเมืองหรือเป็นแว่นแคว้นขึ้นหลายแคว้นสำหรับบริเวณจังหวัดนครปฐม ปัจจุบันได้มีการศึกษาค้นคว้า พบซากเมืองและศิลปะวัตถุสมัยทวารวดีถึง 2 เมือง คือ เมืองนครไชยศรี และเมืองกำแพงแสน ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก และยังมีขนาดที่แตกต่างกันมากอีกด้วย โดยเมืองนครไชยศรีมีลักษณะเป็นมหานครที่ต้องมีกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจยิ่งใหญ่ปกครอง ส่วนเมืองกำแพงแสนเป็นเพียงเมืองเล็กๆ จนน่าจะมีฐานะเป็นเมืองบริวารของเมืองนครไชยศรีมากกว่าจะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่อย่างอิสระ
ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลพระประโทณ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ระหว่างเส้นรุ้งที่ 130 48 47” เหนือ และเส้นแวงที่ 1000 05 58” เป็นเมืองสมัยทวาวดีที่มีซากโบราณสถาน – วัตถุทางพระพุทธศาสนาขนาดใหญ่โต และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี เช่น พระปฐมเจดีย์ วัดพระงาม วัดพระเมรุ พระพุทธรูปศิลาขาว ล้อธรรมจักร ฯลฯ ปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์พยานถึงความรุ่งโรจน์ในอดีตได้เป็นอย่างดี จากภาพถ่ายทางอากาศทำให้มองเห็นร่องรอยของผังเมืองอย่างชัดเจน คือมีรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมขนาดใหญ่ โดยมีลำน้ำไหลผ่านกลางเมืองในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตัวเมืองมีความกว้าง 2,000 เมตร ยาว 3,600 เมตร ล้อมรอบด้วยคูน้ำขนาดใหญ่ กว้าง 60 เมตร และวัดความยาวรอบเมืองทั้งหมดได้ 10 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 3,800 ไร่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองอื่นๆ แล้ว ปรากฏว่าเมืองนครไชยศรีเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่กว่าบรรดาเมืองโบราณต่างๆที่พบในประเทศไทยก่อนอยุธยา
ภาพถ่ายทางอากาศแสดงที่ตั้งเมืองโบราณนครไชยศรี
(ปัจจุบันอยู่ในเขต จ.นครปฐม)
ตรงกลางใจเมืองมีเจดีย์โบราณเรียกว่าพระประโทณเจดีย์ และมีคลองขุดเป็นเส้นตรงเชื่อมคูเมืองด้านเหนือและด้านใต้ เรียกชื่อปัจจุบันว่า “คลองพระประโทน” คลองนี้น่าจะขุดขึ้นเพื่อความสะดวกในการคมนาคมติดต่อของประชากรที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองและนอกเมือง จากปัจจัยเหล่านี้จึงสมควรยกย่องให้เป็นเมืองสำคัญถึงขั้นเป็นราชธานีของแคว้นหนึ่งหรือกลุ่มเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะประกอบไปด้วยเหตุผลสนับสนุนคือ
ประการแรก จากสถานะในทางภูมิศาสตร์เมืองนครปฐมตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นศูนย์กลางคมนาคมที่ติดต่อได้ทั้งทางทะเลกับหัวเมืองภายใน บริเวณโดยรอบของเมืองเป็นที่ลุ่มทำการเพาะปลูกได้ดี
ประการที่สอง เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่กว่าเมืองอื่นๆ ในยุคเดียวกัน อันแสดงให้เห็นถึงความหนาแน่นของประชากร
ประการสุดท้าย มีโบราณสถานและโบราณวัตถุขนาดใหญ่ที่สร้างด้วยฝีมือช่างชั้นสูงอันแสดงให้เห็นถึงระดับความเจริญของบ้านเมือง
ภาพวัดพระเมรุ ภาพวัดพระประโทณ
ปัจจุบันตั้งอยู่ที่บ้านกำแพงแสน ตำบลทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ตำแหน่งกลางเมืองอยู่ที่ประมาณเส้นรุ้ง 130 39 20” เหนือ และเส้นแวง 990 57 57” ตะวันออก เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่มีขนาดเล็กและตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองนครไชศรี คือ มีระยะห่างกันประมาณ 24 กิโลเมตร ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองใหญ่ 2 เมือง คือเมืองอู่ทองและเมืองนครไชยศรี ตัวเมืองมีแม่น้ำขนาดใหญ่ไหลผ่านคือแม่น้ำห้วยยาง โดยแยกจากแม่น้ำแม่กลองที่บ้านท่าเรือ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และไหลผ่านตัวเมืองทางทิศเหนืออ้อมผ่านออกไปทางทิศตะวันออก ซึ่งจากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศของ ทิวา ศุภจรรยา และผ่องศรีวนาสิน ได้พบร่องรอยการนำน้ำจากแม่น้ำห้วยยางเข้ามาหล่อเลี้ยงตัวเมือง และยังพบว่าแม่น้ำนี้เมื่อไหลลงสู่ที่ราบทางทิศตะวันออกจะแตกแยกออกเป็นหลายสาขา ทำให้เกิดตกตะกอนที่ปากน้ำอย่างเด่นชัด อันเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งว่าเมืองกำแพงแสนในอดีตเคยอยู่ใกล้แนวฝั่งทะเล โดยอยู่ห่างไม่เกิน 4.5 – 5 กิโลเมตร
ภาพถ่ายทางอากาศเมืองโบราณกำแพงแสน
(ปัจจุบันอยู่ในเขต จ.นครปฐม)
ภายในตัวเมืองมีลักษณะเป็นเนินอยู่หลายแห่ง มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยม 2 แห่ง กว้างประมาณ 21 x 31 เมตร มีคูน้ำชั้นในเป็นรูปกลมอยู่เยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของใจกลางเมืองกว้างประมาณ 10 เมตร ส่วนคันดินที่เป็นกำแพงเมืองยังปรากฏซากอยู่ชัดเจนมีความสูงประมาณ 4 เมตร กำแพงดินมีช่องด้านละ 2 ช่อง รวมเป็น 8 ช่อง เข้าใจว่าช่องเหล่านี้จะเป็นประตูเมือง บริเวณในเมืองไม่ปรากฏว่ามีซากโบราณสถาน แต่พบอยู่รอบๆเมือง เช่น พบธรรมจักร พระพุทธรูปศิลา ฆ้องสำริด ระฆังหิน ลายปูนปั้น เครื่องดินเผา หินบดยา ตะเกียง หอยสังข์ แหวนโลหะ ฯลฯ
[ภาพซ้าย : หินบนยา] [ภาพกลาง : ตะเกียงดินเผา] [ภาพขวา : ตะเกียงโรมัน พบในบริเวณเมืองกำแพงแสน]
ในสมัยทวารวดีบริเวณเมืองนครปฐมเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ 2 เมือง คือ เมืองนครไชยศรี และ เมืองกำแพงแสน ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ตั้งอยู่ริมทะเลอ่าวไทย เหมาะกับการค้าขายกับต่างชาติ จากการที่พบหลักฐานทางโบราณสถาน – วัตถุ ทำให้ทราบว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญในด้านต่างๆ จนสมควรเป็นเมืองศูนย์กลางหรือเมืองหลวงของกลุ่มเมืองหนึ่งในหลายๆ กลุ่มเมือง ในดินแดนประเทศไทยสมัยทวารวดี มีการปกครองด้วยระบบกษัตริย์ ซึ่งดำรงฐานะเป็นทั้งสมมติเทพและธรรมราชา และจากการที่เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าขายทางทะเล
จึงเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจมั่งคั่งร่ำรวยจนสามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะทางศาสนาได้อย่างใหญ่โตงดงาม ส่วนสังคมมีลักษณะซับซ้อนประกอบได้ด้วยชนชั้นต่างๆ ซึ่งมีการแต่งกายที่สวยงามแตกต่างกัน มีการใช้ภาษาเขียนบันทึกเรื่องราวทางศาสนา ประชาชนศรัทธาอย่างสูงในพระพุทธศาสนา
ภาพเสาธรรมจักร พบที่เมืองโบราณนครไชยศรี และเมืองกำแพงแสน
เมื่อเมืองนครไชยศรี (นครปฐม) ถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 17 อันเป็นช่วงเวลาที่อำนาจของอาณาจักรเขมรได้แผ่คลุมเข้ามายังดินแดนประเทศไทย นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ.1545 – 1593) พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1656 – 1688) และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724 – 1760) โดยมีหลักฐานทั้งที่เป็นเอกสารและโบราณสถาน – วัตถุ จำนวนมากปรากฏอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ดินแดนเมืองนครปฐมและเมืองใกล้เคียงย่อมตกอยู่ใต้อิทธิพลของเขมรเช่นกัน ถึงแม้ว่าพัฒนาการของรัฐในดินแดนไทยจะก้าวเข้าสู่ยุคสุโขทัย แต่ก็ยังไม่ปรากฏมีการสร้างเมืองขึ้นใหม่ในเขตเมืองนครปฐม
ภาพอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ทั้งนี้จากการพิจารณาศิลาจารึกหลักที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชอาณาเขตทางทิศใต้ของแคว้นสุโขทัยสมัยก่อนพ่อขุมรามคำแหงมหาราชกล่าวถึงแต่เมืองที่อยู่ใกล้เคียงเมืองนครปฐม คือ สุพรรณบุรี และเมืองราชบุรี เท่านั้น ดังข้อความในจารึกว่า “…เบื้องหัวนอน รอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทร เป็นที่แล้ว…”
ภาพหลักศิลาจารึกหลักที่ 1
อย่างไรก็ตามอดีตมหานครที่ยิ่งใหญ่มิใช่จะจบสิ้นชื่อเสียงและความสำคัญไปเสียทั้งหมด เพราะยังมีสิ่งหนึ่งที่ผู้คนทุกยุคสมัยยังไม่ลืมเลือน และเดินทางมาสู่ดินแดนนี้เพื่อกราบไหว้บูชาต่อพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในพระเจดีย์องค์สำคัญของเมืองนครไชยศรี จนเป็นผลให้องค์พระเจดีย์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ตลอดมา ดังเช่นเหตุการณ์ปลายสมัยสุโขทัยมีบุคคลสำคัญระดับเชื้อพระวงศ์สายสกุลของ “พ่อขุนผาเมือง” คือ “สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬาศรีรัตนลังกาทวีปมหาสามี” ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมพระปฐมเจดีย์ โดยตามประวัติท่านเคยเป็นขุนทัพที่เก่งกาจของพระยาเลอไทย กษัตริย์แห่งแคว้นสุโขทัย ต่อมาท่านเกิดเบื่อหน่ายทางโลกจึงออกบวชเมื่ออายุ 31 ปี และออกจาริกแสวงบุญไปถึงลังกาทวีป ซึ่ง ณ ที่นี้ท่านได้รับความเคารพเลื่อมใสอย่างยิ่ง เป็นเหตุให้กษัตริย์สิงหลน้อมถวายสมณศักดิ์ท่านไว้ในระดับสังฆราชที่ทรงไว้ซึ่งความเป็นดวงแก้วอันประเสริฐประดับเกาะลังกา คือ “สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬาศรีรัตนลังกาทวีปมหาสามี”
ท่านสังฆราชออกเดินทางจากดินแดนประเทศไทยไปสู่ลังกาใน พ.ศ. 1873 และเดินทางกลับมาราว พ.ศ. 1881 – 1893 โดยผ่านเข้าทางตะนาวศรี เพชรบุรี ราชบุรี นครพระ(กริ) ส อโยธยาศรีรามเทพนคร… หลังจากนั้นท่านได้อุทิศตนประกอบมหากุศลมากมายหลายอย่าง
ภาพแสดงการจารึกเรื่องราวต่างๆ ลงบนหลักศิลาในสมัยสุโขทัย
ซึ่งมีเรื่องราวบันทึกไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 2 เช่น การสร้างวัดวาอาราม การสร้างพระพุทธรูป การปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ การซื้อคนและปล่อยสัตว์ให้เป็นอิสระฯลฯ แต่งานบุญที่สำคัญของท่านคือการปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์หรือเรียกตามขอมว่า “พระธม” ซึ่งหมายถึง สถูปพระบรมธาตุขนาดมหึมา โดยมหาเจดีย์องค์นี้ปรักพังอยู่กลางป่า ณ เมืองเก่าที่สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ เรียกว่า “นครพระกฤษณ์” ซึ่งไมเคิล ไรท์ เป็นบุคคลแรกที่เสนอว่า นครพระกฤษณ์ที่กล่าวถึงในศิลาจารึกหลักที่2 ก็คือ เมืองนครไชยศรี
ภาพหลักศิลาจารึก หลักที่ 2
ในจารึกหลักที่ 2ได้สะท้อนภาพในอดีตของอาณาบริเวณพระปฐมเจดีย์ไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นมหาเจดีย์ที่เคยยิ่งใหญ่งดงามหักพังลง
ท่ามกลางป่ารก พร้อมกับองค์พระพุทธรูปขนาดใหญ่ก็ถูกทอดทิ้งให้โค่นล้มแตกหักออกเป็นส่วนๆ กระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง ปราศจากผู้คนอยู่อาศัย ฉะนั้นเมื่อสมเด็จพระมหาเถรศรีศัทธาฯ พาฝูงคนดีมาซ่อมแซมจึงพบความยากลำบากในการหาปูนขาวมาก่ออิฐ เพราะเมืองนครปฐมอยู่ไกลภูเขา การขนหินปูนจากที่อื่นมาย่อมทำไม่ได้ด้วยระยะทางไกล และยังอยู่กลางป่า ท่านจึงต้องเสี่ยงบารมีเอากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ประสบผลสามารถบูรณะพระบรมธาตุจนสำเร็จจากองค์เดิมที่มีความสูง 95 วา เพิ่มเป็น 102 วา และนอกจากนี้ท่านยังเก็บรวบรวมชิ้นส่วนต่างๆ ของพระพุทธรูปมาซ่อมแซมให้ดีดังเดิม ..นับเป็นงานบุญอันยิ่งใหญ่ที่สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ไม่อาจกระทำได้เพียงลำพัง และปราศจากการวางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างแน่นอน
สรุป ในสมัยสุโขทัย นอกจากหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 2 แล้วก็ไม่ปรากฏหลักฐานใดที่เกี่ยวกับเมืองนครปฐมอีกเลย แสดงให้เห็นว่าในสมัยสุโขทัยนั้นเมืองนครปฐมยังคงเป็นเมืองร้าง
เมืองนครปฐมเริ่มปรากฏความสำคัญขึ้นอีกครั้งในสมัยอยุธยา เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ครองราชย์ พ.ศ. 2091 – 2111) ได้ทรงโปรดให้จัดตั้งเมืองขึ้นใหม่ 3 เมือง คือ เมืองสาครบุรี เมืองนนทบุรี และเมืองนครไชยศรี ดังที่พระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า “…สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า ไพร่พลเมือง ตรี จัตวา ปากใต้เข้าพระนครนี้น้อย หนีออกอยู่ดงห้วยเขาต้อนไม่ได้เป็นอันมาก ให้บ้านท่าจีนเป็นเมืองสาครบุรี ให้เอาบ้านตลาดขวัญตั้งเป็นเมืองนนทบุรี ให้แบ่งเอาแขวงเมืองราชบุรี แขวงเมืองสุพรรณบุรี เป็นเมืองนครไชยศรี…”
สาเหตุที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีพระราชประสงค์ให้สร้างเมืองใหม่นั้น สืบเนื่องมาจากพระเจ้าตะเบงชะเวตี้กษัตริย์พม่ายกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา และแม้ว่าพม่าจะยังปราบปรามไม่สำเร็จ แต่ฝ่ายไทยต้องสูญเสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัยไปในสนามรบใน พ.ศ. 2091
ภาพซ้าย : พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย และอนุสาวรีย์ ณ วัดสบสวรรค์ อันเป็นที่ถวายพระเพลิงพระศพ ณ กรุงศรีอยุธยา
ภาพขวา : พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย บริเวณทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ซึ่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงคาดการณ์ว่าพม่าจะต้องยกทัพกลับมาอีกแน่นอนจึงตระเตรียมการระดมไพร่พล
ไว้รับศึกด้วยการตั้งเมืองขึ้นใหม่ เพื่อให้มีมูลนายควบคุมไพร่ไม่ให้หลบหนีและเหตุผลอีกประการหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเมืองทั้ง 3 นี้ เป็นย่านการค้าขายศูนย์รวมสินค้าจากหัวเมืองต่างๆ นำล่องแม่น้ำลงไปขายปากอ่าว และรับสินค้าจากภายนอกเข้ามา ดังนั้นการตั้งเมืองที่รุ่งเรืองทางการค้าย่อมมีผลดีต่อบ้านเมืองทั้งยามสงบและยามศึกสงคราม
ภาพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
(ที่มาของภาพ เวปไซด์หอมรดกไทย)
เมืองนครไชยศรีที่สร้างขึ้นใหม่นี้เป็นเมืองขนาดเล็กตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน เขตตำบลท่านา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยอยู่ห่างจากเมืองนครไชยศรีเดิมประมาณ 10 กิโลเมตร แม่น้ำสายนี้แยกตัวจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาทไหลผ่านตัวเมืองไปออกทะเลที่จังหวัดสมุทรสาคร มีชื่อเรียกหลายชื่อ คือ เมื่อไหลผ่านจังหวัดสุพรรณมีชื่อเรียกว่าแม่น้ำสุพรรณ ไหลผ่านอำเภอนครชัยศรีเรียกแม่น้ำนครชัยศรี และก่อนไหลลงสู่อ่าวไทยมีชื่อเรียกว่าแม่น้ำท่าจีน ดังนั้นเมืองนครไชยศรีสมัยอยุธยาจึงตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำใหญ่คือ แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีคูคลองมากมายเชื่อมต่อได้ทั้งเมืองหลวงและชาวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะคลองโยงและคลองบางเชือกหนังที่เชื่อมแม่น้ำนครชัยศรีและแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เป็นชุมทางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่ง ขณะเดียวกันมีสภาพพื้นดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชพรรณต่างๆ รวมทั้งน่าจะยังมีพื้นที่เต็มไปด้วยป่าไม้ และสัตว์ธรรมชาติอีกมากมาย เพราะมีหลักฐานว่าบริเวณเมืองนครไชยศรีเป็นแหล่งจับช้างแหล่งหนึ่งจนปรากฏชื่อบ้านเพนียดในเขตอำเภอนครชัยศรีเป็นประจักษ์พยาน
ภาพแม่น้ำนครชัยศรี
การจัดการปกครองหัวเมืองในสมัยอยุธยานับตั้งแต่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงดำเนินการปรับปรุงแล้วนั้น ได้กำหนดให้หัวเมืองมีฐานะแตกต่างกันไปตามความสำคัญจากสูงสุดไปหาต่ำสุด คือ เมือง เอก โท ตรี จัตวา สำหรับเมืองนครไชยศรีมีฐานะเป็น “เมืองจัตวา” ซึ่งเป็นเมืองในเขตปกครองชั้นใน หรือเมืองในวงราชธานี เช่นเดียวกับเมืองราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม นครสวรรค์ ชัยนาท สุพรรณบุรี สมุทรสาคร ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก ผู้ปกครองเมืองจัตวาเรียกว่า “ผู้รั้ง” ไม่เรียกเจ้าเมืองเพราะไม่มีอำนาจเด็ดขาดอย่างเจ้าเมืองต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของราชธานีอย่างใกล้ชิด ในพระไอยการตำแหน่งนายทหารหัวเมือง กำหนดให้ผู้ปกครองเมืองจัตวา ถือศักดินา 3,000 แล้วมียศพร้อมกับราชทินนามเฉพาะแต่ละเมือง สำหรับเมืองนครไชยศรีผู้ปกครองมีราชทินนามว่า “ออกพระสุนธรบุรียศรีพิไชยสงคราม“
สำหรับที่ตั้งเมืองนครไชยศรีในสมัยอยุธยานั้นไม่พบหลักฐานใดที่จะบ่งบอกได้อย่างเด่นชัด ทั้งนี้เพราะเมืองขนาดเล็กที่ไม่ใช่เมืองเอก โท ตรี หรือเมืองหน้าด่านรับข้าศึกจะไม่มีคูน้ำคันดินหรือกำแพงเมืองที่จะเป็นเครื่องสังเกตได้ตลอดจนที่อยู่อาศัยของผู้ปกครองเมืองก็สร้าง
อย่างง่ายด้วยไม้ ดังที่ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์บันทึกไว้เมื่อครั้งเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ทางภาคเหนือว่า “…เมืองเหล่านี้ก็ไม่ผิดอะไรกับเมืองอื่นๆ ในราชอาณาจักรสยาม กล่าวคือเป็นหมู่เรือนจำพวกกระท่อม ล้อมรอบด้วยรั้วไม้เสา ลางที่ก็มีกำแพงหิน และอิฐบ้างเหมือนกัน…”
ภาพเมืองเก่าอยุธยา
สรุป.. ในสมัยอยุธยา เมืองนครไชยศรี (นครปฐม) ปรากฏหลักฐานว่าเป็นเมืองหน้าด่านมีฐานะเป็น “เมืองจัตวา” อยู่ภายใต้การควบคุมของพระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิด ผู้ปกครองเมืองต้องปฏิบัติตามคำสั่งจากเมืองหลวงทั้งในยามปกติและยามสงคราม โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับกำลังไพร่พล การเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นหรือไม่ ย่อมผูกพันอยู่กับความผันแปรของเมืองหลวงเป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาแหลกสลายด้วยน้ำมือของกองทัพพม่าใน พ.ศ. 2310 เมืองนครไชยศรีจึงได้รับผลกระทบด้วย
สมัยกรุงธนบุรีเริ่มต้นขึ้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนำทัพจากเมืองจันทบุรีเข้าปราบสุกี้พระนายกองแม่ทัพพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น
ได้สำเร็จในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2310หลังจากนั้นจึงได้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์แล้วได้ทรงย้ายเมืองหลวงมาตั้งใหม่
ที่เมืองธนบุรี ซึ่งเป็นเมืองที่มีเขตแดนอยู่ใกล้ชิดติดกับเมืองนครไชยศรี
ภาพแสดงการสู้รบของทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ กับทับพม่า ณ ค่ายโพธิ์สามต้น
ดังนั้นเมืองนครไชยศรีในสมัยกรุงธนบุรีจึงน่าจะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะสังเกตได้จากในพระราชพงสาวดาร มีการเรียก “พระยา” แทนที่จะเรียกว่า “ออกพระ” เหมือนสมัยอยุธยา และนอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงเมืองนครไชยศรีได้มีบทบาทไปร่วมในกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ทรงยกทัพไปรบกับพม่าหลายครั้ง
การที่เมืองนครไชยศรีซึ่งในอดีตเป็นเมืองชั้นจัตวาและไม่ค่อยมีความสำคัญมาเปลี่ยนบทบาทไปเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะเส้นทางการเดินทัพของพม่าทางด้านทิศตะวันตกที่เคยผ่านเมืองกาญจนบุรีเข้าสู่สุพรรณบุรีเพื่อไปตีอยุธยา ได้เปลี่ยนเส้นทางมาสู่เมืองราชบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองสมุทรสาคร และเมืองนครไชยศรี ก่อนจะเข้าถึงกรุงธนบุรี ซึ่งในสมัยธนบุรีกองทัพพม่าได้ยกเข้ามาตามเส้นทางนี้ 2 ครั้ง คือครั้งแรกใน พ.ศ.2310 พม่ายกทัพมาถึงบางกุ้ง
ภาพแสดงการสู้รบ ณ ตำบลบางกุ้ง
ตั้งอยู่ใต้เมืองราชบุรีต่อเขตเมืองสมุทรสงคราม แต่ก็ถูกทัพไทยตีแตกพ่ายไป ส่วนครั้งที่ 2 เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2317 ขณะที่สมเด็จพระเจ้าตากสินเพิ่งเสร็จศึกที่เชียงใหม่ ทรงได้ข่าวศึกพม่ายกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์เข้าปล้นทรัพย์จับผู้คนแขวงเมืองกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และนครไชยศรี จึงเสด็จมาทางเรือภายใน 5 วันถึงกรุงธนบุรีและเสด็จต่อไปปราบปรามพม่า โดยเส้นทางการยกทัพจากกรุงธนบุรีไปรับศึกทั้ง 2 ครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเสด็จไปทางเรือตาม “คลองด่าน” หรือ “คลองมหาชัย” ซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างคลองบางกอกใหญ่กับแม่น้ำท่าจีนที่สมุทรสาคร
จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้ผู้เป็นเจ้าเมืองนครไชยศรีต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถทางการรบ เพื่อจะได้เป็นกำลังสำคัญในการป้องกันเมืองหลวงร่วมกับเมืองใกล้เคียงอย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่ปรากฏชื่อ “พระยานครชัยศรี” ในกองทัพที่ส่งไปรับศึกพม่าครั้งสำคัญ เช่น ความศึกอะแซหวุ่นกี้ พ.ศ. 2318 ทัพพม่าตีบุกเข้ามาทางเมืองตาก รุกเรื่อยมาจนประชิดเมืองพิษณุโลก ทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้าตากสินยกขึ้นไปตั้งรับที่ปากน้ำปิง เมื่อการรบเกิดขึ้นได้โปรดเกล้าให้พระยานครชัยศรีที่ตั้งค่ายอยู่ที่โพทัพช้างยกมาช่วยราชการทัพหลวง
นอกจากนี้เมืองนครไชยศรียังมีบทบาทเกี่ยวกับนโยบายการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ทั้งนี้เพราะในระยะแรกของการเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสลดพระทัยกับสภาพอันน่าสังเวชของประชาชนที่อดอยากอาหารจนซูบผอม มีรูปร่างเหมือผีเปรต จนถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า
“…บุคคลใดเป็นอาทิคือเทวดา บุคคลผู้มีฤทธิ์
มาประสิทธิ์มากระทำให้ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์
ขึ้น ให้สัตว์โลกเป็นสุขได้ แม้ผู้นั้นจะปรารถนา
พระพาหาแห่งเราข้างหนึ่งก็อาจตัดบริจาคให้แก่
ผู้นั้นได้…”
พระราชปณิธานดังกล่าวยทำให้พระองค์มุ่งมั่นหาแนวทางแก้ไข โดยเริ่มต้นด้วยการแจกจ่ายอาหารแก่ราษฎร ซึ่งพระองค์ทรงสละพระราชทรัพย์ซื้อจากเรือสำเภาที่บรรทุกข้าวสารมาจากเมืองพุทไธมาศ แต่ต่อมาทรงใช้ระยะเวลาที่ว่างศึกสงครามมีพระราชโองการให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่คุมไพร่พลออกไปบุกเบิกการทำนายังบริเวณรอบๆ กรุงธนบุรี ซึ่งรวมทั้งแขวงเมืองนครไชยศรีด้วย เพราะเป็นเขตที่พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์มาก ดังที่พระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า
“… อนึ่ง เจ้าพระยาจักรี, เจ้าพระยาสุรศรี, พระยา
ธรรมา ให้คุมไพร่พลทั้งปวงทำนาฟากตะวันออกกรุงธนบุรี
อนึ่งพระยายมราช พระยาราชสุภาวดี ตั้งทำนากระทุ่มแบน
หนองบัว แขวงเมืองนครชัยศรี…”
สรุป.. เมืองนครไชยศรี (นครปฐม) ในสมัยธนบุรียังคงมีฐานะเป็นเมืองขนาดเล็กระดับชั้นจัตวาดังเดิม แต่เนื่องจากพม่าเพียรพยายามจะปราบปรามไทยให้เด็ดขาดโดยตลอดรัชสมัย 15 ปี ของยุคธนบุรีของยุคธนบุรี พม่าได้ส่งกองทัพมาโจมตีถึง 9 ครั้ง นับเป็นภัยอันตรายอันใหญ่หลวงที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินต้องทรงวางแผนการรบเพื่อปกป้องราชธานีแห่งใหม่ไม่ให้กองทัพพม่าเข้ามาทำลายได้อีก จนน่าจะเป็นเหตุให้ทรงแต่งตั้งผู้มีฝีมือทางการรบเป็นเจ้าเมืองรอบๆ เมืองหลวง ดังจะเห็นได้จากพ่อเมืองนครไชยศรีมีบรรดาศักดิ์เป็นถึง “พระยา” พร้อมกับมีบทบาทในด้านศึกสงคราม และในช่วงว่างจากศึกสงครามเมืองนครไชยศรียังเป็นแหล่งเกษตรกรรมปลูกข้าวเนื่องจากมีพื้นที่สมบูรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง
รัตนโกสินทร์ ตอนต้น พ.ศ. 2325-2394 ..
หลังจาการสิ้นสุดสมัยธนบุรีใน พ.ศ. 2325 สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระสติฟั่นเฟือนจนเป็นเหตุให้เกิดกบฏพระยาสวรรค์ ในขณะที่แม่ทัพนายกองชั้นผู้ใหญ่ไปราชการทัพที่เขมร เมื่อสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกดำเนินการปราบปรามเหตุร้ายเรียบร้อยแล้ว จึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
ภาพ : พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
รัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2325-2352 ครองราชย์ 27 พรรษา พระชนมายุ 74 พรรษา
ในส่วนของหัวเมืองได้ทรงแต่งตั้งผู้มีความชอบออกไปดำรงตำแหน่งเป็นพระยา พระหลวง ครองเมือง เอก โท ตรี จัตวา ซึ่งปรากฏว่า เมืองนครไชยศรีเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน โดยเจ้าเมืองที่เคยมีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยานครชัยศรี” ลดตำแหน่งเป็นเพียง “พระนครชัยศรี” การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าทรงลดฐานะผู้ปกครองเมืองนครไชยศรีลงไปน่าจะเป็นเพราะทรงมีพระบรมราโชบายแก้ไขให้
ถูกต้องตามแบบแผนการปกครองของสมัยอยุธยา ซึ่งผู้ปกครองเมืองจัตวา ดังเช่น เมืองนครไชยศรี มีบรรดาศักดิ์เป็น “ออกพระ” อยู่ก่อนแล้ว
ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้ปรากฏการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ขึ้นในเมืองนครไชยศรีทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จนทำให้เมืองระดับจัตวาที่ปราศจากความสำคัญกลับกลายเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเมืองหนึ่ง กล่าวคือ
การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากอาณาจักรไทยได้เริ่มติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตกใหม่อีกครั้งเมื่อบ้านเมืองเข้าสูภาวะปกติ ชาติโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่ส่งทูตจากเมืองมาเก๊ามาขอเจริญพระราชไมตรีในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศลาศนภาลัย และมีการทำสัญญาการค้ากันใน พ.ศ. 2363 และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยกับอังกฤษได้ตกลงทำสัญญากันใน พ.ศ. 2369 มีชื่อเรียกว่า “สัญญาเบอร์นี่” ซึ่งมีใจความสำคัญในมาตรา 5 ว่า “ให้คนในบังคับอังกฤษ และคนในบังคับไทยทั้งสองฝ่ายมีเสรีภาพโดยเด็ดขาดในการค้าขายและติดต่อกันฉันมิตร…” อันเป็นผลให้ไทยเปิดการค้าเสรีกับอังกฤษในตอนต้นรัชกาล และจากการที่ไทยยอมเจรจาติดต่อกับชาติตะวันตก โดยไม่ค่อยมีกฎเกณฑ์ยุ่งยากเหมือนชาติอื่นๆ จึงเป็นผลให้เศรษฐกิจของไทยเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว โดยสินค้าไทยที่เป็นที่ต้องการของตลาดมากมายหลายอย่าง เช่น น้ำตาลทราย หนังสัตว์ ฝ้ายดิบ ไม้ยาง ครั่ง ดีบุก ข้าว ฝ้าย รังนก เป็นต้น จากข้อมูลสินค้าการส่งออกในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) สินค้าที่ส่งออกสูงสุดคือ น้ำตาลทราย ซึ่งมีแหล่งผลิตอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำท่าจีน แขวงเมืองนครไชยศรี
การผลิตอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายที่เมืองนคราไชยศรี ประมาณกันว่าเริ่มต้นขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2353 ถึง พ.ศ. 2391 โดยเมืองนครไชยศรีเป็นแหล่งสำคัญ เพราะมีความเหมาะสมคือ
1. แหล่งปลูกอ้อย และโรงงานน้ำตาลทรายอยู่บริเวณเดียวกันคือริมแม่น้ำท่าจีน การขนส่งอ้อยสู่โรงงานจึงทำได้สะดวก รวมทั้งการขนส่งน้ำตาลทรายมายังกรุงเทพด้วย เพราะระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำเจ้าพระยามีคลองเชื่อมหลายสาย
2. พื้นที่ดินบริเวณริมแม่น้ำเมืองนครไชยศรีเป็นที่ราบลุ่มดินดี เนื้อดินเป็นดินเหนียวปนทราย จึงสามารถปลูกอ้อยได้โดยอาศัยปริมาณน้ำจากแม่น้ำท่าจีนและปริมาณน้ำฝนธรรมชาติ เมื่อมีไร่อ้อยมากการตั้งโรงงานจึงมากตามไปด้วย
3. บริเวณเมืองนครไชยศรีตั้งอยู่ไม่ห่างจากทะเลมากนัก ทำให้แรงงานจีนสามารถอพยพเข้ามาได้ง่าย ซึ่งเส้นทางอพยพของแรงงานจีนมายังแหล่งอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายมีความสะดวก การที่แรงงานจีนมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายก็เพราะแรงงานไทยไม่มีอิสระ ต้องมีภาระหน้าที่ตามระบบไพร่
บันทึกของ สังฆราชปาลเลกัวซ์ ทำให้มองเห็นภาพความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายบริเวณสองฟากฝั่งแม่น้ำเมืองนครไชยศรีได้เป็นอย่างดี และรวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ด้านการเพาะปลูกพืชพรรณอื่นๆด้วย
“… ไร่อ้อยเป็นจำนวนมากทั้งสองฝั่งปากแม่น้ำ
แจ้งให้เรารู้ว่ากำลังเข้าไปใกล้เขตจังหวัด
นครชัยศรีเข้ามามากแล้ว ไม่ช้าก็เห็นโรง
หีบอ้อยตั้งเรียงรายอยู่เป็นระยะไม่ขาดสาย
ข้าพเจ้านับได้กว่า 30 โรง ซึ่งแต่ละโรง
ใช้กุลีคนจีนราว 200 ถึง 300 คน จังหวัด
นี้มีพื้นดินที่ได้รับการปรับปรุงแล้ว และอุดม
มาก นอกจากข้าวสาร น้ำตาล ก็มีคราม
ข้าวโพด มันเทศ และผักพรรณต่างๆ
เรือกสวนซึ่งได้รับการหล่อเลี้ยงจากลำคลอง
หลายสาย มีผลไม้รสดีเป็นอันมาก…”
อย่างไรก็ตามความรุ่งเรืองทางด้านอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายย่อมส่งผลให้ภาวะการณ์เศรษฐกิจด้านอื่นๆ ของเมืองนครไชยศรีดีขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้เพราะชุมชนได้ขายใหญ่โตขึ้นจากการอพยพหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากของชาวจีน ซึ่งมิได้มาใช้แรงงานเพียงอย่างเดียว แต่เจ้าของโรงงานหรือไม่ก็เป็นผู้ดำเนินงานล้วนเป็นชาวจีนเกือบทั้งหมด ดังนั้นแม้ว่าชาวไทยท้องถิ่นจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายน้อยก็จริง ทว่าในชุมชนใดที่มีประชากรมากย่อมต้องการสินค้าเครื่องอุปโภคตามไปด้วย การผลิตสินค้าอื่นๆ จึงเพิ่มพูนขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากร อันเป็นปัจจัยนำไปสู่ความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักทางด้านการค้าขายในบริเวณลุ่มน้ำนครชัยศรี
การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม
การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมนี้เกิดขึ้นจากการอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยของคนต่างชาติ ภาษา หลายเผ่าพันธุ์ ได้แก่ จีน ลาว เขมร โดยชาวจีนเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดลักษณะของชาวต่างชาติที่เข้ามายังเมืองนครไชยศรีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีความ
แตกต่างกันเป็น 2 ลักษณะคือ ลักษณะแรก เป็นพวกที่ตั้งใจมาเพื่อแสวงหาหนทางประกอบอาชีพ ซึ่งได้แก่ชาวจีนที่อพยพหนีความอดอยากยากจนมาจากประเทศของตนเอง เสี่ยงภัยอันตรายเดินทางมาทางทะเล ลักษณะที่สอง คือ เป็นกลุ่มไม่ต้องการมา แต่ถูกรัฐบาลไทยกวาดต้อนมาผลจากสงครามและถูกส่งไปอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ รวมทั้งนครไชยศรีด้วย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขึ้นเนื่องจากชาวต่างชาติหลายเผ่าพันธุ์ย้ายถิ่นเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันกับราษฎรท้องถิ่น
เป็นจำนวนมาก มีผลให้ประชากรในเขตเมืองนครไชยศรีเพิ่มจำนวนขึ้น และกลายเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมหลากหลายผสมผสานกัน
พระปฐมเจดีย์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าวแล้ว ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้มีหลักฐานเกี่ยวกับพระมหาธาตุเจดีย์ หรือประปฐมเจดีย์ เมื่อบุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงคือ “พระวชิรญาณภิกขุ” หรือเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งกำลังผนวชอยู่และกวีเอกของไทย 2 ท่านคือ นายมี และสุนทรภู่ ได้เดินทางมานมัสการพระปฐมเจดีย์เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ครั้งนี้ได้ถูกบันทึกไว้ และกลายเป็นหลักฐานชั้นต้นชิ้นสำคัญที่ช่วยสะท้อนภาพอันแท้จริงขององค์เจดีย์ที่มีอายุนับพันปีในจังหวัดนครปฐมนี้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)
เจ้าฟ้ามงกุฎทรงออกผนวชตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ พ.ศ. 2367 – 2494 พระองค์ปรารถนาศึกษาศึกษาธุดงค์วัตร ให้สมบูรณ์ จึงเสด็จไปบูชามหาเจดีย์ตามหัวเมืองต่างๆ เช่น นครไชยศรี ราชบุรี อยุธยา นครสวรรค์ พิษณุโลก ฯลฯ สำหรับเมืองนครไชยศรี เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จมาในปี พ.ศ. 2374 พร้อมด้วยพระสงฆ์หลายรูป เพื่อทรงนมัสการพระปฐมเจดีย์ โดยประทับกลดอยู่ทางทิศเหนือ เมื่อทรงพิจารณาตรวจพิเคราะห์ซากเจดีย์ลักษณะของอิฐที่ทรงให้ขุดลงไปอย่างละเอียดแล้ว ทรงมีพระราชดำรัสว่าเป็นเจดีย์เก่าแก่มาช้านานก่อนเจดีย์องค์ใดในดินแดนประเทศไทย จึงพระราชทานเจดีย์องค์นี้ว่า “พระปฐมเจดีย์” แทนชื่อ “พระประธม” ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากอยู่ในสมัยนั้น ทรงโปรดให้วัดความสูงได้ระยะจากพื้นดินไปถึงหลังเกาะสูง 4 วาบ้าง 5 วาบ้าง ด้วยแผ่นดินไม่เสมอกัน ระยะตั้งแต่หลังเกาะขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์กลมสูง 14 วา 2 ศอก ส่วนปรางค์สูง 20 วา ยอดนภศูลสูง 3 ศอก รวมระยะตั้งแต่หลังเกาะขึ้นไปถึงยอดนภศูลสูงเท่ากับ 40 วา 2 ศอก ครั้นเสด็จกลับกรุงเทพฯ เจ้าฟ้ามงกุฎได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงปฏิสังขรณ์ แต่พระองค์มีพระราชดำรัสว่า “เป็นของอยู่ในป่ารก ถึงจะกระทำขึ้นก็ไม่เป็นประโยชน์สิ่งใดนัก”
หมื่นพรหมสมพัตร หรือ นายมี .. กวีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2379 ได้เดินทางไปนมัสการพระแท่นดงรังที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยแวะนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งท่านบรรยายการเดินทางครั้งนั้นไว้ใน “นิราศพระแท่น
ดงรัง” อันเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ทำให้ทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับองค์พระปฐมเจดีย์และสภาพท้องถิ่นเมืองนครปฐมสมัยนั้น นายมีได้อธิบายไว้ว่าภายหลังจากผ่านวัดพระประโทณเจดีย์ก็บรรลุถึงเจดีย์ใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกชื่อว่า “พระประธม” นายมีได้บรรยายลักษณะของเจดีย์ไว้เพียงเล็กน้อยว่าเป็นพระปรางค์ขนาดใหญ่ “สูงเท่านกเขาเหิน” พระยาพานสร้างขึ้นเพื่อล้างกรรมที่ทรงฆ่าพระราชบิดา รอบๆ พระปรางค์มีสภาพร่วงโรยเป็นป่าดงมาช้านานแล้ว เมื่อนายมีหยุดนมัสการพระประธมเสร็จแล้วก็ออกเดินทางต่อไป
ภาพ : สุนทรภู่
สุนทรภู่เป็นบุคคลสำคัญบุคคลหนึ่งที่บันทึกเรื่องราวขององค์พระปฐมเจดีย์ไว้อย่างละเอียด ท่านได้เดินทางมานมัสการพระปฐมเจดีย์ ใน พ.ศ. 2385 พร้อมกับบุตรชาย 2 คน คือ ตาบและนิล โดยท่านบันทึกความทรงจำในครั้งนี้ไว้ใน “นิราศพระประธม” วรรณกรรมที่จัดเป็นหลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์สำคัญของสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทำให้คนรุ่นหลังสามารถเห็นภาพในอดีตของชุมชนตามแม่น้ำลำคลองของเมืองนครปฐมโบราณ ตลอดจนสภาพดั้งเดิมของพระปฐมเจดีย์ นิราศพระประธมได้สะท้อนภาพชุมชนริมลำน้ำของเมืองนครไชยศรียุคนี้ว่ามีชาวจีนเข้ามาประกอบอาชีพต่างๆ เช่นที่คลองโยง “เจ๊กจีนใหม่ไทยมั่งไปตั้งโรง ขุดร่องน้ำลำกระโดงเขาโหย่งดิน” คือเป็นพวกชาวจีนที่มาทำการเพาะปลูก ที่ตัวเมืองนครไชยศรี ส่วนพระปฐมเจดีย์หรือที่สุนทรภู่เรียกว่า “วัดพระประธมบรมธาตุ” นั้น สุนทรภู่บรรยายถึงความใหญ่โตขององค์เจดีย์และส่วนขององค์ปรางค์ที่บุดีบุกจนถึงยอดนภศูลดังกลอนของนิราศ ดังนี้
“…ครั้นถึงวัดพระประธมบรมธาตุ สูงทายาทอยู่สันโดษบนโขดเขิน
แลทะมึนทึนเทิ่งดังเชิงเทิน เป็นโขดเนินสูงเสริมเขาเพิ่มพูน
ประกอบก่อย่อมุมมีซุ้มมุข บุดีบุกบรรจบถึงนภศูล
เป็นพืดแผ่นแน่นสนิททั้งอิฐปูน จงเพิ่มพูนพิศการอยู่นานครั้น …”
สรุป.. เมืองนครไชยศรี (นครปฐม) ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังเป็นเมืองขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรี ภายใต้การบังคับบัญชาของสมุหนายก และได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ขึ้นทางด้านเศรษฐกิจและสังคม อันเนื่องมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายรวมทั้งการอพยพเข้ามาของแรงงานชาวจีน และการที่รัฐบาลกวาดต้อนชาวลาว ชาวเขมร ให้เข้ามาตั้งหลักแหล่ง จนเป็นผลให้สังคมเมืองนครไชยศรีประกอบไปด้วยคนหลายเชื้อชาติ หลากหลายวัฒนธรรมดำรงชีวิตอยู่ด้วยกัน
00
ภาพซ้าย : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)
ภาพขวา : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชการลที่ 5)
หลังจากสิ้นสุดสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประวัติศาสตร์ชาติไทยได้เข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งเป็นยุของการปรับตัวให้ทันสมัยตามแนวตะวันตกเพื่อเลี่ยงการกเผชิญหน้ากับลัทธิจักรวรรดินิยมที่กำลังแผ่อำนาจเข้ามา เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องปรับปรุงบ้านเมืองครั้งใหญ่ ทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม เมืองนครปฐมยุคนี้จึงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย ขณะเดียวกันช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เป็นยุคที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อการบูรณปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ จนกลายเป็นเจดีย์ที่สูงใหญ่และงดงามที่สุดของประเทศ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เมืองนครปฐมฟื้นคืนสู่ความเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา สำหรับช่วงเวลาในรัชกาลนี้เกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเมืองนครปฐม ดังนี้
การปฏิสังขรพระปฐมเจดีย์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว (พ.ศ.2394 – 2411) พระองค์ได้ทรงสานต่อพระราชปณิธานของพระองค์ที่มีมาตั้งแต่ครั้งทรงผนวชในการที่จะบูรณปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งนอกจากจะมีเหตุทรงเชื่อมั่นว่าเป็นเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดแล้วยังทรงแน่พระทัยว่ามีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ด้วย
การเปลี่ยนแปลงด้านคมนาคม..
ในยุคนี้เมืองนครไชยศรี (นครปฐม) ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการคมนาคมอย่างขนานใหญ่ ทำให้การเดินทางติดต่อค้าขายของประชาชนกับเมืองหลวงเป็นไปอย่างสะดวกสบายถึง 2 ทาง คือ ทางน้ำมีการขุดคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำนครชัยศรีกับแม่น้ำเจ้าพระยา และทางรถไฟซึ่งเป็นรูปแบบการคมนาคมสมัยใหม่ที่รับอิทธิพลมาจากชาติตะวันตก
ด้านการขุดคลอง..
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการขุดคลองขึ้นหลายสาย ในเขตเมืองนครไชยศรีหรือเมืองนครปฐมโบราณ ทำให้การคมนาคมระหว่างเมืองนคราไชยศรีกับเมืองหลวงและเมืองใกล้เคียงเป็นไปอย่างสะดวก ขณะเดียวกันก็มีผลให้การเพาะปลูกขยายตัวเพิ่มขึ้น คลองสายสำคัญๆมีดังนี้
1. คลองเจดีย์บูชา การขุดคลองนี้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นประโยชน์ในการก่อสร้างพระปฐมเจดีย์ และเพื่อให้ประชาชนไปมานมัสการพระปฐมเจดีย์ได้สะดวก คลองสายนี้ขุดตั้งแต่ตำบลท่านาริมแม่น้ำนครชัยศรีไปจนถึงพระปฐมเจดีย์ แล้วเลี้ยวแยกไปสิ้นสุดที่วัดพระงาม รวมระยะทาง 448 เส้น คลองกว้าง 5 – 8 วา ลึก 6 ศอก จ้างชาวจีนขุดคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 64,363 บาท
2. คลองมหาสวัสดิ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค) เป็นแม่กองขุดในปีเดียวกับการขุดคลองเจดีย์บูชา เริ่มต้นจากแม่น้ำอ้อมหรือคลองบางกอกน้อย ริมวัดชัยพฤกษ์มาลา ไปทะลุแม่น้ำนครชัยศรีบริเวณศาลเจ้าสุบินที่บ้านงิ้วรายเมืองนครไชยศรี ระยะทาง 676 เส้น ค่าจ้างชาวจีนขุดเป็นเงิน 88,120 บาท เมื่อสร้างเสร็จได้สร้างศาลาอาศัยริมคลองในระยะ 100 เส้น ต่อ 1 หลัง และให้เขียนตำรายารักษาโรคต่างๆ ติดไว้เป็นกุศล จึงทำให้มีชื่อว่า “ศาลายา”
3. คลองนราภิรมย์ ขุดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแก้ปัญหาลำคลองตื้นเขิน โดยขุดต่อจากคลองทวีวัฒนาไปออกแม่น้ำนครชัยศรี เป็นระยะทาง 540 เส้น กว้าง 4 วา ลึก 4 ศอก สิ้นเงินค่าจ้าง 45,840 บาท
4. คลองราชาภิมล เป็นคลองขุดเอกชนดำเนินการขุดโดย “พระราชาภิมล” ขุดจากบริเวณทุ่งบางบัวทอง แขวงเมืองนนทบุรี กับ แม่น้ำนครชัยศรีที่บ้านบางปลา บางภาษี ขนาดคลองกว้าง 3 วา ลึก 5 ศอก ยาว 800 เส้น
5. คลองพระยาบรรฦา เป็นคลองขุดเอกชนที่ดำเนินการขุดโดย “พระยาบรรฦาสิงหนาท” (เจ็ก) เป็นผู้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตขุดตั้งแต่ตำบลบางกอกใหญ่ เมืองอยุธยาไปเชื่อมแม่น้ำนครชัยศรีกับแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางยาว 400 เส้น ลึก 4 ศอก กว้าง 4 วา
อนึ่ง ถึงแม้ว่าการขุดคลองในเมืองนครไชยศรีในระยะแรกจะมีจุดประสงค์เพื่อให้การเดินทางมานมัสการพระปฐมเจดีย์สะดวกรวดเร็ว แต่ก็ก่อประโยชน์ต่อการทำมาหากินของราษฎร จึงเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของเมืองนครไชยศรีให้ดีขึ้น
ด้านทางรถไฟ..
การคมนาคมด้านรถไฟนี้เริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับเส้นทางรถไฟที่ตัดผ่านเมืองนครไชยศรีก็คือทางรถไฟสายใต้ซึ่งระยะแรกสร้างถึงเมืองเพชรบุรี โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2442 และสามารถเดินรถได้ในวันที่ 1 เมษายน 2446 รวมระยะทาง ยาวประมาณ 151 กิโลเมตร ทางรถไฟสายนี้ตัดผ่านชุมชนสำคัญ คือ กรุงเทพฯ พระปฐมเจดีย์ บ้านโป่ง โพธาราม ราชบุรี และเพชรบุรี ทางรถไฟสายนี้ช่วยให้ประชาชนเดินทางมานมัสการพระปฐมเจดีย์มากขึ้น การคมนาคมทางรถไฟได้เปลี่ยนโฉมหน้าเมืองนครไชยศรีให้มีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากการติดต่อไปมากับเมืองหลวงทำได้รวดเร็วกว่าแต่ก่อนและยังเป็นทางผ่านของประชาชนจากเมืองทางทิศใต้ที่อาศัย
เส้นทางสายนี้อีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ..
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของเมืองนครไชยศรีในยุคของการปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่นั้นเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
ของชาติเป็นอย่างยิ่ง เพราะภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาวริ่งกับอังกฤษ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2398 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินนโยบายเปิดประเทศและยุติการค้าแบบผูกขาดที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาหันมา
ใช้วิธีการค้าแบบเสรี จึงเป็นเหตุให้การค้าขายระหว่างประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผลผลิตที่สำคัญที่พ่อค้าต่างชาติต้องการมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็คือ ข้าว และ น้ำตาลทราย ซึ่งแหล่งผลิตส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคกลางของประเทศ โดยเมืองนครไชยศรีก็เป็นเมืองหนึ่งที่มีบทบาทในการผลิตสินค้าทั้ง 2 ชนิดนี้
การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง..
จากเมืองชั้นจัตวาที่ไร้บทบาทและความสำคัญทางการเมืองมาก่อน ได้แปรเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้ามเมื่อเริ่มรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นผลมาจากพระราชศรัทธาต่อการปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์เป็นสำคัญ และเมื่อถึงยุคของการปฏิรูปการปกครองสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองนครไชยศรีก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ดังนี้
การสร้างเมืองปฐมนคร
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังสำหรับเป็นที่ประทับเวลาเสด็จมานมัสการพระปฐมเจดีย์ โดยมีกรมขุนสีหวิกรมเป็นนายช่างดำเนินการก่อสร้างขึ้นบริเวณข้างพระปฐมเจดีย์ด้านทิศตะวันออก พระราชทานนามว่า “วังปฐมนคร”
ภาพ : วังปฐมนคร
การสร้างวังปฐมนครนี้เป็นผลให้อาณาบริเวณนี้เปลี่ยนสภาพอย่างรวดเร็วกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขยายตัวรอบพระราชวัง
สองฝั่งคลองเจดีย์บูชา การที่พระมหากษัตริย์เสด็จมาประทับพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนขุนนางข้าราชการจำนวนมาก ย่อมทำให้บรรยากาศของชุมชนนี้คึกคักมากยิ่งขึ้น
การจัดตั้งมณฑลนครไชยศรี…
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองนครไชยศรีได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆในพระราชอาณาจักร ทั้งนี้เพราะนโยบายปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยเพื่อหลีกเลี่ยงการคุกคามของลัทธิจักวรรดินิยมจึงมีการปฏิรูปการปกครองที่เคย
ใช้สืบเนื่องกันมาแต่สมัยอยุธยาให้เป็นระเบียบเรียบร้อยรัดกุมและมีประสิทธิภาพตามแนวตะวันตกทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น มณฑลนครไชยศรีจัดเป็นมณฑลขนาดเล็ก ตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2438 มี “พระยามหาเทพ” (บุตร บุญยรัตนพันธุ์) เป็นข้าหลวงคนแรก
การย้ายที่ทำการมณฑลและตัวเมือง
ใน พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ทำการมณฑลนครไชยศรี จากบริเวณตัวเมืองนครไชยศรีริมแม่น้ำนครชัยศรีมายังอำเภอพระปฐมเจดีย์ โดยใช้ระเบียงพระปฐมเจดีย์เป็นที่ว่าการชั่วคราว และทรงมีพระราชดำริให้ซ่อมแซมพระราชวังปฐมนครที่ชำรุดทรุดโทรมเป็นที่ตั้งของที่ว่าการมณฑล
ผลการย้ายศูนย์ราชการขนาดใหญ่ดังกล่าวย่อมทำให้ชุมชนบริเวณพระปฐมเจดีย์และสองฝั่งคลองเจดีย์บูชาเป็นตลาดการค้า
ขนาดใหญ่อยู่แล้วนั้นเปลี่ยนสภาพจากชุมชนธรรมดาเป็นชุมชนเมืองอย่างแท้จริง
สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6)
ภาพ : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชการที่ 6)
เมืองนครไชยศรีมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อเมืองนครไชยศรี เป็นชื่อใหม่ว่า “เมืองนครปฐม” ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2456 ตลอดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2453 2468) นครปฐมได้เปลี่ยนฐานะจากหัวเมืองธรรมดาเป็นเมืองที่มีความสำคัญระดับประเทศรองจากกรุงเทพมหานครฯ ทั้งนี้เพราะเป็นเมืองที่พระมหากษัตริย์โปรดเสด็จมาประทับประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ อยู่เป็นส่วนใหญ่ บ้านเมืองจึงเจริญอย่างรวดเร็วและพรั่งพร้อมด้วยเครื่องอุปโภค การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับเมืองนครปฐมเนื่องจากปัจจัยดังนี้คือ
พระราชศรัทธาต่อพระปฐมเจดีย์…
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศรัทธาต่อองค์พระปฐมเจดีย์ตั้งแต่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร” พระองค์ทรงเห็นปาฏิหาริย์ของพระปฐมเจดีย์ ในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปฐมเจดีย์มีสภาพทรุดโทรดอย่างหนัก แผ่นกระเบื้องประดับองค์เจดีย์หลุดร่วงเป็นจำนวนมาก จึงมีพระราชดำริให้ปฏิสังขรณ์เสียใหม่แต่ยังไม่ทันเสร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงรับเป็นพระราชภาระ และโปรดเกล้าให้เขียนภาพพระปฐมเจดีย์ไว้ที่ผนังด้านในพระวิหารหลวงแสดงให้เห็นรูปทรงเจดีย์ตั้งแต่สมัยเริ่มสร้างจนถึงปัจจุบัน และยังมีภาพเทวดา พระยาครุต นักพรต นักบวช ประนมมือนมัสการพระปฐมเจดีย์
ภาพ : พระร่วงโรจนฤทธิ์ ฯ
และเหตุการณ์ที่สำคัญคือทรงโปรดเกล้าให้หล่อพระพุทธรูปเก่าซึ่งเหลือแต่เศียร พระหัตถ์
พระบาท ซึ่งได้มาจากเมืองศรีสัชนาลัย มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ประดิษฐานไว้ในซุ้มด้านทิศเหนือของพระปฐมเจดีย์ และโปรดเกล้าฯ ถวายพระนามว่า “พระร่วงโรจนฤทธิ์
ศรีอินทราทิตย์ธรรมโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร”
ความสงบร่มรื่นของเมืองนครปฐม…
ภูมิประเทศของเมืองนครปฐมร่มรื่นด้วยพรรณไม้ธรรมชาติ ตลอดจนไม้สวนต่างๆ จึงมีลักษณะภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปี เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวดังที่ทรงมีพระราชปรารถไว้ว่า “..การที่ได้ออกไปอยู่สนามจันท์สัปดาห์หนึ่งนั้นนับว่าค่อยได้มีความผาสุกหน่อยเพราะอากาศเย็นสบายดี…”
เมืองนครปฐมเหมาะเป็นเมืองหลวงสำรอง…
จากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ที่ทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนฝั่งแม่น้ำโขง จึงทรงพิจารณาว่าเมืองนครปฐมมีชัยภูมิที่เหมาะกับการเป็นเมืองหลวงสำรองใช้เป็นที่มั่นต้านทานศึก ดังนั้นตลอดการครองราชย์ 15 ปี นับได้ว่าเมืองนครปฐมรุ่งเรืองสูงสุด ดังเห็นได้จากทรงสร้างพระราชวังสนามจันทร์ไว้สำหรับประทับและประกอบพระราชกรณียกิจราชการต่างๆ ซึ่งตัวอาคารพระราชวังมีทั้งศิลปกรรมไทย ศิลปกรรมยุโรป และศิลปกรรมประยุกต์ มีพระนามคล้องจองกันดังนี้ พระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี พระที่นั่งวัชรีรมยา พระที่นั่งสามัคคีมุขฆาตย์ พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย และพระตำหนักต่างๆ ดังนี้ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักมารีราชบัลลังก์ พระตำหนักทับแก้ว พระตำหนักทับขวัญ
ในช่วงเวลาที่ทรงประทับ ณ พระราชวังสนามจันทร์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับกิจการของเสือป่า เช่น การซ้อมรบ การเดินทางไกล การพระราชทานยศเครื่องหมาย ฯลฯ ส่วนเวลาที่เหลือนั้นเป็นพระราชกิจเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เช่น พระราชทานให้บุคคลทั่วไปทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าเฝ้า นอกจากนี้เวลาเย็นประมาณ 16.00 – 18.00 น ยังมีการเล่นกีฬาต่างๆ เช่น ฟุตบอล แฮนด์บอล และในเวลากลางคืนจะมีการฝึกซ้อมและเล่นโขนละครตั้งแต่ราว 22.00 น. ดังนั้นพระราชวังสนามจันทร์จึงสว่างไสวไปด้วยประทีป
ผลจากการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชวังสนามจันทร์และเสด็จมาฝึกซ้อมเสือป่าอยู่ทุกปี ส่งผลให้เมืองนครปฐมเติบโตทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว เพราะมีพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ข้าราชการ และเสือป่า ตามเสด็จมากันเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้ว่าไม่มียุคใดที่เมืองนครปฐมภายหลังจากสมัยทวารวดีจะมีความรุ่งเรืองเท่าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งนอกจากจะทำนุบำรุงพระปฐมเจดีย์แล้วยังคงเอาพระทัยใส่ดูแลการปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนความเป็นอยู่ของราษฎรให้มีความสะดวกสบาย เป็นผลส่งให้เมืองนครปฐมมีความเจริญเติบโตขึ้นมาตามลำดับตราบเท่าทุกวันนี้
รวบรวมเผยแพร่โดย : อาจารย์วิศิษฏ์ แก้วเอี่ยม