พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในจังหวัดนครปฐม

  • หากเอ่ยคำว่า “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” แล้วตามด้วยคำถามว่า คืออะไร?? คำตอบของใครหลายต่อหลายคนคงแตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะนิยามว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ใช่ของทางการ บางคนอาจจะบอกว่าต้องดูที่เนื้อหาว่าต้องเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงเรื่องราวของท้องถิ่น บางคนอาจจะบอกว่าองค์กรของท้องถิ่น เช่น หมู่บ้าน วัด หรือ อบต.ดูแลก็น่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นได้ ตำตอบเหล่านี้หรือคำตอบไหนๆ ก็ไม่ใช่คำตอบที่ผิด หากแต่ความหมายของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมันกว้างมาก

  • พิพิธภัณฑ์ เป็นคำนาม หมายถึง “สิ่งของต่างๆ ที่รวบรวมไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา เช่น โบราณวัตถุ หรือ ศิลปวัตถุ” ซึ่งถึงแม้ว่า ในพจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้เช่นนั้น แต่การใช้คำว่า พิพิธภัณฑ์ ในปัจจุบันมักนิยมหมายถึง “สถานที่ หรือสถาบันสำหรับเก็บรวบรวมสิ่งของต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา” ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความหมายของพิพิธภัณฑ์นี้ได้แปรเปลี่ยนไปจากรูปศัพท์เดิม กลายเป็นมีความหมายเดียวกันกับคำว่า พิพิธภัณฑสถาน

  • ส่วนพิพิธภัณฑสถาน [พิ-พิด-ทะ-พัน-ทะ-สะ-ถาน] ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 กล่าวไว้ว่า เป็นคำนาม หมายถึง “สถาบันถาวรที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรม หรือ ด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเล่าเรียน และก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ”

  • ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวในงานพิพิธภัณฑ์เสวนาครั้งที่ 6 เรื่องสถานภาพพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย ว่า
    “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นมากกว่าสถานที่ที่เก็บสิ่งของ วัตถุ แต่เป็นขบวนการทางสังคม คือความคิดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสังคมและการเปลี่ยนแปลง แล้วก็มีรูปแบบของการปฏิบัติต่างๆ ความคิดอันนี้ทำให้เกิดการมองพิพิธภัณฑ์ด้วยความหมายอีกแบบหนึ่ง คือมองว่าพิพิธภัณฑ์เป็นกระบวนการที่จะสนองต่อสิ่งที่ต้องการ ทำให้คนในชุมชนใดชุมชนหนึ่งเกิดความสำนึกและตระหนักถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ของรากเหง้าของตัวเอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจตัวเอง เพราะฉะนั้นการทำพิพิธภัณฑ์แบบนี้ไม่ใช่เพื่อที่จะแสดงให้คนอื่นเห็นอย่างเดียว แต่ทำเพื่อกระตุ้นความเข้าใจตัวเอง กระตุ้นความสำนึกบางอย่างเกี่ยวกับตัวเอง”

  • ย้อนหลังไปประมาณ 20–30 ปี นักวิชาการท้องถิ่นเริ่มให้ความสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยอยากจะเล่าประวัติศาสตร์ของตนเองซึ่งไม่มีอยู่ในประวัติศาสต์ชาติ สิ่งนี้เองเป็นต้นความคิดที่ว่าชุมชนควรแสดงบางอย่างที่เป็นเฉพาะพื้นที่ แสดงความเป็นตัวเอง อาจจะไม่เหมือนกับคนอื่น หรือคนอื่นอาจจะไม่พูดถึง เพราะฉะนั้นชุมชนต้องพูดเอง นอกจากนั้นจากการบริหารงานบ้านเมืองแบบกระจายอำนาจยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ให้เกิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอีกด้วย อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลก็เป็นองค์กรหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น นอกจากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของชุมชนแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้ชุมชนอีกด้วย

  • ด้วยสาเหตุนี้เองทำให้ปัจจุบันจำนวนของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ล้วนได้รับการดูแลและจัดการจากหน่วยงานที่แตกต่างกันออกไป เช่น วัด โรงเรียน หมู่บ้าน บางทีสิ่งที่นำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุโบราณอายุ 100 ปีขึ้นไป หากแต่เป็นสิ่งของที่ชุมชนนั้นเองต้องการอนุรักษ์สืบสานไว้

  • * จังหวัดนครปฐม มีพื้นที่ตั้งอยู่ในภาคกลางของไทย มีประวัติความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานตั้งแต่สมัยทวารวดี ดังจะเห็นได้จากโบราณสถาน โบราณวัตถุที่ค้นพบในแหล่งต่างๆในจังหวัดนครปฐม และมีชุมชนชาติพันธ์ต่างๆอาศัยอยู่ในพื้นที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
    ** โอกาสนี้ ศูนย์วัฒนธรรมฯ มหาวิทยาลัยคริสเตียน จึงได้เล็งเห็นคุณค่าของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในจังหวัดนครปฐมที่มีกระจายอยู่ในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอต่างๆ ในจังหวัดนครปฐม มาเผยแพร่ให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไปได้ศึกษาค้นคว้าเรียนรู้

อำเภอเมืองจังหวัดนครปฐม

1. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์

     พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ ตั้งอยู่ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ ทางทิศใต้หรือด้านถนนขวาพระ ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม
ลักษณะของการจัดแสดงแบ่งเป็น 2 ส่วน คือในอาคารและลานกลางแจ้ง
โดยภายในอาคารแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นการแนะนำลักษณะทั่วไปของจังหวัดนครปฐม ย้อนอดีตความเป็นมาตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานก่อนประวัติศาสตร์ จนพัฒนาในยุคต้นประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า ทวารวดี ส่วนที่ 2 เป็นการนำเสนอเรื่องราวทางด้านศาสนาและความเชื่อของชุมชนทวารวดีที่นครปฐมที่สะท้อนผ่านงานศิลปกรรมประเภทต่างๆ ส่วนที่ 3
เป็นการนำเสนอเรื่องราวของนครปฐมภายหลังจากความเจริญรุ่งเรืองของสมัยทวารวดีผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนฐานะเป็นจังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน
การจัดแสดงภายนอกอาคาร พิพิธภัณฑ์จัดนิทรรศการถาวรไว้ภายนอกอาคาร เรียกว่า “สวนทวารวดีศรีพระเทพฯ”

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์

สถานที่ตั้ง :
ตั้งอยู่ภายในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ฝั่งพระศิลาขาว)
ถนนขวาพระ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

เวลาทำการ :
วันพุธ-วันอาทิตย์ 09.00-16.00 น.

ราคาตั๋วเข้าชม :
ชาวไทย 20 บาท
ชาวต่างประเทศ 100 บาท
เด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา พระภิกษุ นักบวช ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี เข้าชมโดยไม่เสียค่าเข้าธรรมเนียม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
โทรศัพท์/โทรสาร : 034-242500
E-mail : prathom_museum@hotmail.com

2. พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์

พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ ตั้งอยู่บนองค์พระปฐมเจดีย์ด้านทิศตะวันออก อ.เมือง จ.นครปฐม เกิดขึ้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระราชดำริให้ทำการรวบรวมโบราณวัตถุในเมืองนครชัยศรี ซึ่งโบราณวัตถุที่รวบรวมได้ในระยะแรกถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่ระเบียงคตรอบองค์พระปฐมเจดีย์ กระทั่งใน พ.ศ. 2454 จึงได้เคลื่อนย้ายไปไว้ในวิหารตรงข้ามพระอุโบสถ ต่อมาเรียกว่า พระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน จากนั้นในปี พ.ศ. 2477 ได้ยกฐานะเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากรและเมื่อจำนวนวัตถุมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้อาคารพิพิธภัณฑสถานสถานหลังเดิมคับแคบ
ในปี พ.ศ. 2510 กรมศิลปากรจึงจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่ ดังนั้นอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลังเดิมจึงตกอยู่ภายใต้การดูแลของวัดและใช้ชื่อ พระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถานเหมือนเดิม

ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นพิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์และอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานจัดประโยชน์และการรักษาองค์พระปฐมเจดีย์
วัตถุที่จัดแสดงได้แก่ โบราณวัตถุสมัยทวารวดี เช่น พระพุทธรูป ธรรมจักรหิน นอกจากนี้ยังมีสิ่งของเนื่องในพิธีศพของย่าเหล สุนัขตัวโปรดของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่โปรดฯ ให้มีการจัดพิธีศพให้สมเกียรติในความจงรักภักดีและโปรดฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ไว้อาลัย ณ บริเวณพระราชวังสนามจันทร์
พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. โดยไม่เก็บค่าเข้าชม
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3425-7745, 0-3424-2143

3. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ถ.มาลัยแมน อ.เมือง จ.นครปฐม โดยมีปรัชญาในการจัดตั้งคือ “สืบสานความเป็นไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พรั่งพร้อมคุณธรรม นำภูมิปัญญาสู่สังคม” มีวิสัยทัศน์คือ ภายใน พ.ศ. 2551
สำนักศิลปะและวัฒนธรรมจะเป็นองค์กรแกนนำในการพัฒนานักศึกษาให้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมจริยธรรมตระหนัก รู้รักษ์และภาคภูมิความเป็นไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ อนุรักษ์ สืบสานและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและภูมิปัญญาไทยสู่สากล พร้อมทั้งกำหนดพันธกิจไว้ว่า จะส่งเสริมสนับสนุนให้นักศึกษาเป็นผู้มีคุณธรรมตระหนักรู้รักษ์ในคุณค่าความเป็นไทย ส่งเสริมสนับสนุนงานศิลปะวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและภูมิปัญญาไทยและสร้างมาตรฐานการบริหารจัดการ การจัดแสดงนิทรรศการภายในสำนักศิลปะวัฒนธรรมสำนักศิลปะและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม แบ่งเป็น 2 ห้อง
โดยห้องแรกจัดแสดงรูปภาพเกี่ยวกับองค์พระปฐมเจดีย์ เครื่องใช้ทองเหลืองชนิดต่างๆ นอกจากนั้นในห้องนี้ยังใช้เป็นห้องสืบค้นข้อมูลทางวัฒนธรรมจากหนังสือของศูนย์ฯ ด้วย ห้องที่ 2 เป็นการจัดแสดงเครื่องครัวไทย ซึ่งวัตถุที่จัดแสดงประกอบด้วยเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในครัวของไทย
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เปิดเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลทางศิลปวัฒนธรรมให้แก่นักศึกษาและบุคคลโดยทั่วไปโดยไม่เก็บค่าเข้าชม
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3426-1059, 0-3426-1021-3 ต่อ 762

4. ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเมือง

ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเมืองนครปฐม ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยคริสเตียน ต.ดอนยายหอม อ.เมือง จ.นครปฐม ดำเนินงานโดยคณะกรรมการศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม สังกัดของสำนักกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยคริสเตียน
มีหน้าที่ส่งเสริมและให้คำปรึกษาการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของนักศึกษาและบุคลากร อนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับชุมชนในการดำเนินงานทางวัฒนธรรม ตลอดถึงการศึกษาวิจัยข้อมูลทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างองค์ความรู้ในท้องถิ่น ซึ่งศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเมืองนครปฐม
ได้รับอนุมัติจัดตั้งในปีการศึกษา 2540 และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้จัดตั้งเป็นศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเมืองนครปฐม เมื่อ วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2543 สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3422-9480

5. ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม "ราชินีบูรณะ"

     ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม “ราชินีบูรณะ” อยู่ที่อาคาร “เรือนราชินีบูรณะ” โรงเรียนราชินีบูรณะ ถ.หน้าพระ อ.เมือง จ.นครปฐม
ซึ่งเรือนราชินีบูรณะเป็นอาคารที่สร้างขึ้นโดยพระราชทรัพย์จากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โดยก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2461 มีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้นก่ออิฐถือปูนทรงปั้นหยา ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ โรงเรียนราชินีบูรณะจึงมีโครงการจัดตั้งให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียน เพื่อรวบรวมเอกสารสำคัญ โบราณวัตถุไว้เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของโรงเรียนโดยจะแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 ห้องราชาวดี ใช้เป็นห้องบรรยายแนะนำพิพิธภัณฑ์ ห้องประชุม อบรม
ส่วนที่ 2 จัดแสดงวัสดุทางการศึกษา เอกสาร ป้ายชื่อเรือนเก่า ถ่ายภาพการเสด็จเยี่ยมของพระบรมวงศานุวงศ์ ภาพวิถีชีวิตของครู นักเรียน และชุมชน
ส่วนที่ 3 ห้องสมเด็จพระพันปีหลวง จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ รวมทั้งศิลปวัตถุที่เกี่ยวข้อง
ส่วนที่ 4 จัดแสดงเรื่องราว ภาพถ่ายเมืองนครปฐม ศิลปวัตถุและนิทรรศการชั่วคราว
ขณะนี้ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม “ราชินีบูรณะ” ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน การติดต่อเข้าชมประสานงานได้ที่โรงเรียนราชินีบูรณะ
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3425-4168, 0-3425-8345

6. พระราชวังสนามจันทร์

พระราชวังสนามจันทร์ อยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทิศตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นพระราชวังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่ยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ด้วยทรงเห็นว่าเป็นเมืองที่เหมาะสำหรับประทับพักผ่อน พระราชวังมีพระที่นั่ง และพระตำหนักต่างๆ ที่มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ พระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งวัชรีรมยา พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ พระตำหนักทับแก้ว พระตำหนักทับขวัญ เรือนทับเจริญ พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 เทวาลัยคเณศวร์ และอนุสาวรีย์ย่าเหล
โดยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2546 คณะกรรมการอำนวยการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ โดยสมด็จพระเจ้าภคนีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณวดี องค์ประธาน ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมและมหาวิทยาลัยศิลปากร น้อมเกล้าฯ ถวายคืนพระราชวังสนามจันทร์ให้กับสำนักพระราชวังเป็นผู้ดูแลตามพระราชดำริ
ปัจจุบันพระราชวังสนามจันทร์ได้เปิดให้เข้าชมในรูปพิพิธภัณฑ์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.30-16.00 น. (ปิดขายบัตร 15.30 น.) อัตราค่าเข้าชม คนไทย ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท พระภิกษุ สามเณร แม่ชี นักศึกษา 10 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3424-4237 โทรสาร 0-3424-4235

7. สถาบันวัฒนธรรมภูมิภาคตะวันตก มหาวิทยาลัยศิลปากร

สถาบันวัฒนธรรมภูมิภาคตะวันตก มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ที่เรือนทับเจริญ พระราชวังสนามจันทร์ อ.เมือง จ.นครปฐม ทำหน้าที่รวบรวมผลงานด้านวัฒนธรรมของท้องถิ่น ทั้งที่เป็นมรดกและผลงานร่วมสมัย เพื่อจัดแสดงในรูปของพิพิธภัณฑ์ถาวร และนิทรรศการหมุนเวียน เป็นแหล่งวัฒนธรรมสนเทศและส่งเสริมเผยแพร่กิจกรรมด้านวัฒนธรรมสาขาต่างๆ

ตัวอาคารเป็นเรือนไม้สักแบบโบราณ ใต้ถุนสูงชั้นบนจัดเป็นห้องหุ่นกระบอกคุณยายสาหร่าย ช่วยสมบูรณ์จัดแสดงประวัติ เครื่องใช้ และตัวหุ่น ห้องเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์สมัยโบราณ ถ้วยชามเบญจรงค์ กังไส ชั้นล่างจัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตรตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน

สถาบันวัฒนธรรมภูมิภาคตะวันตก เปิดพฤหัสบดี-อาทิตย์ 09.00-16.00 น.
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3424-2649 ต่อ 2140

8. ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยเขตพระราชวังสนามจันทร์ ถ. ราชมรรคาใน อ.เมือง จ.นครปฐม ตั้งขึ้นเพื่อจรรโลงศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรมของไทย โดยจัดเป็นหอศิลป์ที่มีชีวิตมีการสาธิต การแสดงโชว์

เป็นหออเนกประสงค์ที่รวบรวมและจัดแสดงผลงานชนะการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ถึงปัจจุบัน มีทั้งส่วนนิทรรศการประจำ นิทรรศการหมุนเวียน อบรม พัฒนา และวิจัย ให้บริการทางวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม และบริการด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
ลักษณะของอาคารแบ่งเป็นอาคารหลักและอาคารประกอบ อาคารหลักเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ชั้นบนเป็นห้องประชุมขนาดจุ 1,300-1,500 คน ชั้นล่างเป็นห้องแสดงผลงานศิลปะและนิทรรศการหมุนเวียน อาคารประกอบมีสองส่วนคือ ส่วนของเรือนไม้จำนวน 4 หลัง

ซึ่งสร้างจากแบบเรือนพักข้าราชการบริพารในรัชกาลที่ 6 ที่พระราชวังสนามจันทร์ สำหรับแสดงผลงานทางวัฒนธรรม อีกส่วนหนึ่งเป็นอาคารรับรอง 1 หลัง ใช้สำหรับต้อนรับและบริการผู้เยี่ยมชมจำหน่ายหนังสือ ของที่ระลึกและอาหารว่าง
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3425-3840-4

9. พิพิธภัณฑ์กรมการสัตว์ทหารบก

พิพิธภัณฑ์กรมการสัตว์ทหารบก ตั้งอยู่ที่อาคารกองวิทยาการกรมการสัตว์ทหารบก เลขที่ 94 หมู่ 3 ต.ธรรมศาลา อ.เมือง จ.นครปฐม
โดยกองทัพบกได้ตระหนักเห็นความสำคัญของพิพิธภัณฑ์จึงได้มีนโยบายให้แต่ละหน่วยขึ้นตรงของกองทัพบกมีพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมประวัติความเป็นมาภารกิจของหน่วย วีรกรรมที่หน่วยหรือบุคคลได้ประกอบวีรกรรมทางทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ด้านการศึกษาของเยาวชนรุ่นหลัง

พิพิธภัณฑ์กรมการสัตว์ทหารบก แบ่งการจัดแสดงเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 จะจัดแสดงหุ่นจำลองสัตว์ทางทหาร และสัตว์พาหนะ ที่ใช้สำหรับส่งกำลังบำรุงในพื้นที่ทุรกันดาร
ส่วนที่ 2 จัดแสดงเครื่องมือด้านสัตว์แพทย์ที่ใช้ในการรักษาพยาบาลตลอดจนเครื่องมือที่ใช้ในการค้นคว้าวิจัยทางทหาร
พิพิธภัณฑ์กรมการสัตว์ทหารบก เปิดให้เข้าชมในวันและเวลาราชการ โดยติดต่อล่วงหน้าที่ กองวิทยาการ กรมการสัตว์ทหารบก
สอบถามรายละเอียดที่ โทร.0-3439-5270, 0-3425-4517 ต่อ 50539

10. พิพิธภัณฑ์น้ำพริกแม่ศรี

พิพิธภัณฑ์น้ำพริกแม่ศรี ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าโรงงานน้ำพริกแม่ศรี เลขที่ 245 หมู่ 1 ถ.เพชรเกษม ต.ธรรมศาลา อ.เมือง จ.นครปฐม โดยยังอยู่ในระหว่างดำเนินการระยะเริ่มต้น ทั้งนี้เกิดจากความประสงค์ของคุณดวงดาว และคุณประสิทธิ์ สองพี่น้องตระกูล “นิยมทรัพย์” ทายาทของแม่ศรี ที่ต้องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ที่สามารถเป็นแหล่งทัศนศึกษาของเยาวชนอันแสดงให้เห็นถึงกระบวนการผลิตอาหารไทย วัฒนธรรมการกินของคนไทย และความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพร โดยได้ความคิดมาจากการได้ชมพิพิธภัณฑ์ชอคโกแล็ต ในประเทศเยอรมัน เมื่อประมาณ 10 กว่าปีมาแล้ว ประกอบกับมีความตั้งใจจะคืนกำไรให้แก่สังคม โดยเมื่อสร้างพิพิธภัณฑ์เรียบร้อยจะไม่เก็บค่าเข้าชม นอกจากนั้นยังต้องการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดด้วย
คุณประสิทธิ์ นิยมทรัพย์ ออกแบบพิพิธภัณฑ์ไว้ว่า จะแบ่งออกเป็นส่วนๆ ดังนี้

ส่วนแรกเป็นส่วนของพืชสมุนไพรในจังหวัดนครปฐม ต่อมาเป็นหุ่นจำลองน้ำพริกต่างๆ พร้อมเครื่องเคียง จากนั้นเป็นกระบวนการและพัฒนาการของน้ำพริกไทย แล้วจึงเข้าสู่ประวัติและพัฒนาการของน้ำพริกแม่ศรี โดยจะเน้นเป็นป้ายนิทรรศการ ระหว่างรอยเชื่อมต่อของอาคารจะจัดแสดงรูปปั้นของแม่ศรี ส่วนสุดท้ายจะเป็นแผนผังโรงงานแบบจำลอง และการจัดแสดงเครื่องจักรขนาดเล็กที่สามารถเดินเครื่องผลิตน้ำพริกให้ชมได้
ปัจจุบันอาคารพิพิธภัณฑ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่รอการดำเนินการจัดแสดงภายใน ซึ่งในระหว่างนี้เยาวชนและประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจในเรื่องการผลิตน้ำพริกแม่ศรีสามารถขออนุญาตเข้าทัศนศึกษาโรงงานได้กลุ่มละไม่เกิน 15 คน ซึ่งเป็นโรงงานน้ำพริกแม่ศรีนี้เป็นโรงงานผลิตน้ำพริกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยติต่อแจ้งล่วงหน้า
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3430-5881 โทรสาร 0-3439-5144

11. พระประโทนเจดีย์

พระประโทนเจดีย์ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระประโทนเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่เชื่อกันว่าองค์เจดีย์บรรจุทะนานทองที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เจดีย์องค์เดิมเป็นเจดีย์สมัยทวารวดี
ต่อมามีการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 เคยมีการขุดค้นพบพระพุทธรูป ลูกปัด พระพิมพ์ดินเผาสมัยทวารวี และครุฑสำริด นับว่าเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีที่สำคัญมากแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3424-2440, 0-3421-2011

12. อาคารทวารวดี องค์การบริหารส่วนตำบลพระประโทน

อาคารทวารวดี องค์การบริหารส่วนตำบลพระประโทน ตั้งอยู่ในที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลพระประโทน

มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุในสมัยทวารวดี ให้เป็นแหล่งค้นคว้าโบราณวัตถุโดยเฉพาะในวัฒนธรรมทวารวดีในโอกาสต่อไป
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3439-5600 (อบต.พระประโทน)

อำเภอกำแพงแสน

1. สวนป่าสมุนไพรวัดปลักไม้ลาย

สวนป่าสมุนไพรวัดปลักไม้ลาย ตั้งอยู่ที่ไม้ปลักวัดลาย เลขที่ 49 หมู่ 6 ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

จากเดิมที่สภาพพื้นที่ของวัดซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 98 ไร่ เป็นที่ดอนดินร่วนปนทรายและเป็นป่าไม้เบญจพันธุ์ รวมทั้งมีพืชสมุนไพรขึ้นอยู่กว่า 500 ชนิด พระครูสุธรรมนาถ (สมนึก นาโถ) เจ้าอาวาสวัดปลักไม้ลาย จึงพยายามอนุรักษ์และบำรุงผืนป่าแห่งนี้ไว้โดยวิธีการให้ความรู้สร้างความเข้าใจให้คนชุมชนได้รู้ถึงคุณค่าของพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในสวนป่าแห่งนี้ ให้เป็นแหล่งสมุนไพรที่ชุมชนทั่วไปได้อาศัยใช้เป็นยาบำบัดรักษาโรคต่างๆ เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ด้านสมุนไพรของบุคคลทั่วไป ทั้งยังเป็นแหล่งพักผ่อนและเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม
ซึ่งปัจจุบันยังคงรักษาความเป็นธรรมชาติโดยมีกุฏิสำหรับพระสงฆ์อยู่จำพรรษาและปฏิบัติศาสนกิจขนาดเล็กเท่าที่จำเป็น และเปิดสวนสมุนไพรเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมทั้งดำเนินงานโครงการสาธิตแปรรูปสมุนไพร
การเข้าชมและศึกษาสวนป่าสมุนไพรวัดปลักไม้ลายสามารถเข้าชมได้ทุกวัน นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะกรุณาติดต่อล่วงหน้า
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 08-1944-9592 และ 08-9888-0087

2. พิพิธภัณฑ์วัดกำแพงแสน

พิพิธภัณฑ์วัดกำแพงแสน ตั้งอยู่ที่วัดกำแพงแสน เลขที่ 151 หมู่ 9 ต.ห้วยหมอนทอง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เป็นศาลาอเนกประสงค์อาคารชั้นเดียว

จัดแสดงโบราณวัตถุสมัยทวารวดีจากเมืองโบราณกำแพงแสน ประกอบด้วยเศษประติมากรรมปูนปั้น และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม ภาชนะดินเผาสมัยต่างๆ ประกอบด้วยภาชนะดินเผาหลายสมัย เช่น สมัยบ้านเชียง หรือ เครื่องถ้วยต่างๆ ในครัวเรือน เช่น เครื่องจักสาน และเครื่องทองเหลือง พระพุทธรูปและพระพิมพ์ เป็นของหลายยุคหลายสมัย เปลือกหอยทะเท เป็นเปลือกหอยขนาดใหญ่สวยงาม ซึ่งได้มาจากการขุดบ่อดินในบริเวณชุมชนกำแพงแสน

พิพิธภัณฑ์กำแพงแสน เปิดให้เข้าชมทุกวันโดยไม่เก็บค่าเข้าชม
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 08-7014-7517

3. อุทยานแมลงเฉลิมพระเกียรติฯ

อุทยานแมลงเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม

เป็นโครงการที่เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนากีฏวิทยา สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย จัดสร้างขึ้นในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ ในปี 2542 เพื่อเป็นแหล่งศึกษาด้านแมลงในระบบนิเวศ เป็นศูนย์การศึกษาและเพาะเลี้ยงแมลงที่สวยงามและใกล้จะสูญพันธุ์ เป็นต้นแบบของพิพิธภัณฑ์แมลงที่มีชีวิต

อุทยานแมลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่สนใจศึกษาทางด้านแมลงเข้าชมได้ทุกวันในเวลาราชการ
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3428-1066

4. ศูนย์วัฒนธรรมไทยโซ่ง ตำบลสระพัฒนา

ศูนย์วัฒนธรรมไทยโซ่ง ตำบลสระพัฒนา ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนวัดสระสี่มุม เลขที่ 1 หมู่ 1 ต.สระพัฒนา อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2539 ด้วยเงินบริจาคของประชาชน ต.สระพัฒนา และตำบลใกล้เคียง

จัดแสดงเกี่ยวประวัติความเป็นมา ข้าวของเครื่องใช้ในวิถีชีวิตของชาวไทยโซ่ง เรือนไทยโซ่ง และกี่ทอผ้าโบราณ นอกจากนี้ยังจัดการแสดงของชาวไทยโซ่งให้กับคณะที่แจ้งเข้าชมเป็นหมู่คณะไว้ล่วงหน้าด้วย โดยเปิดให้ชมในวันและเวลาราชการ สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 08-9911-4791 และ 0-3438-3022

5. ศูนย์อนุรักษ์ของใช้พื้นบ้าน วัดโพธิ์งาม

ศูนย์อนุรักษ์ของใช้พื้นบ้าน วัดโพธิ์งาม ตั้งอยู่ที่วัดโพธิ์งาม ต.กระตีบ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

เป็นศูนย์เก็บรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับการเกษตรกรรมและของใช้พื้นบ้าน ที่ชาวบ้านบริจาคมา วัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้ง เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ และการศึกษาค้นคว้าของนักเรียนโรงเรียนวัดโพธิ์งาม ภายในศูนย์อนุรักษ์ของใช้พื้นบ้านจัดแสดงเครื่องจักสาน เครื่องมือจับปลาสัตว์น้ำ หนังสือเก่า เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า สีฝัด รถสามล้อถีบ ล้อเกวียน และตะเกียงเจ้าพายุ เป็นต้นสอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3438-3867

อำเภอดอนตูม

1. ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอดอนตูม

ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอดอนตูม ตั้งอยู่ที่โรงเรียนคงทองวิทยา อ.ดอนตูม จ.นครปฐม

จัดตั้งขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2530 และกรมสามัญศึกษาอนุญาตให้ใช้สถานที่และบุคลากรของโรงเรียนคงทองวิทยา ดำเนินงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการสืบค้น เผยแพร่ข้อมูลด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นแก่สาธารณชน จัดเป็นแหล่งการเรียนรู้แก่เยาวชนและบุคคลทั่วไป เสริมสร้างสังคมให้มีความมั่นคง

ปัจจุบันศูนย์วัฒนธรรมอำเภอดอนตูม โรงเรียนคงทองวิทยา เป็นเพียงที่ตั้งของคณะกรรมการศูนย์ฯ เท่านั้น วัตถุต่างๆ ภายในห้องจัดแสดงนิทรรศการซึ่งประกอบด้วย เอกสาร ของสะสมประเภทต่างๆ เช่น เครื่องทองเหลือง เครื่องเบญจรงค์ เสมา ล้วนเป็นทรัพย์สินที่ลงทะเบียนเป็นของโรงเรียนคงทองวิทยาทั้งสิ้น

ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอดอนตูม โรงเรียนคงทองวิทยา ใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียนคงทองวิทยา กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ที่ต้องการสืบค้นข้อมูลด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น เปิดบริการให้เข้าชมในวันและเวลาราชการ โดยทำหนังสือแจ้งความประสงค์เข้าชมล่วงหน้า
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3438-1076 และ 0-3438-1769

2. วัดอรัญญิการาม (วัดสามง่าม)

วัดอรัญญิการาม (วัดสามง่าม) ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 81 หมู่ 5 ต.สามง่าม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม

วัดอรัญญิการาม (วัดสามง่าม) มีแหล่งเรียนรู้ทางศิลปกรรมที่สวยงาม คือ โบสถ์ทรงจตุรมุข ซึ่งมีส่วนประกอบสวยงามตามแบบแผนของสถาปัตยกรรมไทยตั้งแต่ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ดาวเพดาน คันทวย ลงมาถึงซุ้มหน้านาง สาหร่ายและปลายสาหร่าย รวมทั้งลวดลายประกอบงานสถาปัตยกรรมต่างๆ เป็นต้น
ผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวัน โดยสอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3438-1754

อำเภอนครชัยศรี

1. พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย

พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ตั้งอยู่เลขที่ 43/2 หมู่ 1 ถ.บรมราชชนนี(ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี) กิโลเมตรที่ 31 ตำบลขุนแก้ว เป็นสถานที่จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสที่มีความสวยงามและเหมือนจริง ซึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์ของ อ.ดวงแก้ว พิทยากรศิลป์ และคณะเพื่อนศิลปินไทย

โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริม เผยแพร่และอนุรักษ์ไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของไทย ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ชั้น ดังนี้
ชั้นล่าง เป็นห้องจัดแสดงถาวร ประกอบด้วยหุ่นชุดต่างๆ ได้แก่ ชุดพระอริยสงฆ์ ชุดพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ชุดหมากรุกไทย และชุดครอบครัว

ชั้นบน เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราวชุดต่างๆ หมุนเวียนตามความเหมาะสม ปัจจุบันจัดแสดงชุดครูเพลงไทย ชุดบุคคลสำคัญของโลก ชุดวรรณคดีไทย ชุดการละเล่นของเด็กไทย และชุดประวัติศาสตร์ไทย
พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย เปิดบริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด (จันทร์-ศุกร์ เปิดตั้งแต่ 09.00-17.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดเวลา 08.30-18.00 น.) อัตราค่าเข้าชมคนไทย 50 บาท นักศึกษาในเครื่องแบบและพระภิกษุ แม่ชี นักบวช 20 บาท นักเรียนอนุบาล-ม.6 และเด็ก(สูงไม่เกิน 130 ซม.) 10 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3433-2061, 0-3433-2109, 0-3433-2607 โทรสาร 0-3433-2061

2. พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวนาไทยบ้านลานแหลม

พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวนาบ้านลานแหลม ตั้งอยู่ที่ 9/1 หมู่ 4 ถ.นครชัยศรี-ดอนตูม ต.วัดละมุด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เริ่มก่อตั้ง พ.ศ. 2542 โดย อ.เริงชัย แจ่มนิยม

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ต้องการถ่ายทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำนาในอดีต การจัดแสดงแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นอาคารเรือนไทยโบราณ ชั้นล่างเป็นสำนักงานของกลุ่มสตรีบริการเพื่อการพัฒนาบ้านลานแหลม ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์และสาธิตงานภูมิปัญญาไทย ชั้นบนเป็นห้องจัดแสดงพระพุทธรูป หนังสือเก่าและนิทรรศการหมุนเวียน

ส่วนที่สองเป็นพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวนาไทยโดย อาคารพิพิธภัณฑ์สร้างเป็น “เรือนไทยเครื่องผูกโบราณ” จัดแสดงและสาธิตวิถีชีวิตชาวนาไทย
พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวนาไทยบ้านลานแหลม เปิดให้ชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. การเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อแจ้งล่วงหน้า
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3429-6086, และ 08-7165-1681

3. พิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก

พิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก วัดกลางบางแก้ว เลขที่ 113 หมู่ 2 ต.นครชัยศรี อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2533 สำเร็จและเปิดให้เข้าชมเมื่อ พ.ศ. 2537

โดยรูปแบบการจัดแสดง แบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นที่หนึ่ง จัดแสดงประวัติและข้าวของเครื่องใช้ของหลวงปู่บุญและหลวงปู่เพิ่ม เครื่องรางของขลัง วัตถุมงคล ชั้นที่สอง จัดแสดงเครื่องถ้วยชามของใช้ แก้วเจียระไน เครื่องทองเหลือง ธรรมาสน์มุกของหลวงปู่บุญ

ชั้นที่สาม จัดแสดงพระบุเงิน และพระบูชาไม้แกะ ธรรมาสน์บุษบกเก่าสลักไม้ลงรักปิดทอง ศิลปวัตถุที่สำคัญของพิพิธภัณฑ์คือ พระพุทธรูปสมัยอู่ทอง สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ พระเครื่องหลวงปู่บุญ หลวงปู่เพิ่ม เครื่องลายคราม เครื่องสังคโลก เบญจรงค์ และรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่บุญ หลวงปู่เพิ่ม
พิพิธภัณฑ์เปิดทุกวันพฤหัสบดี-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก นักเรียน นักศึกษา 10 บาท
เข้าชมเป็นหมู่คณะ กรุณาทำหนังสือ จดหมายติดต่อล่วงหน้า
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3433-1462 และ 0-3433-2182

4. ศูนย์ทัศนศิลป์ ดำรง วงศ์อุปราช

พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาว

ศูนย์ทัศนศิลป์ ดำรง วงศ์อุปราช ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 77/7 หมู่ 3 ต.บางกระเบา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ก่อตั้งโดย ผศ.ดำรง วงศ์อุปราช ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2542 ศิลปินและนักวิชาการที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง

ผลงานจิตรกรรมแสดงออกอย่างเรียบง่าย สงบและงดงาม เช่น ผลงานจิตรกรรมชุดชนบทชาวเหนือ ชุดบ้านชาวประมง สร้างสรรค์ขึ้นด้วยเทคนิคสีฝุ่นและสีอะคริลิกผสมผสานกับลายเส้นปากกาสะท้อนสภาพนิเวศวัฒนธรรมของชนบทไทย ทำให้ได้รับรางวัลจากงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ และได้รับเชิญไปดูงาน พร้อมกับสร้างงานศิลปะในต่างประเทศมากมาย ด้วยความเป็นอัจฉริยภาพศิลปิน นักวิชาการ และเป็นครูสอนศิลปะ จึงได้รับเกียรติเป็นผู้แทนไทยไปร่วมงานประชุมศิลปะระดับอาเซียนและนานาชาติ และด้วยความรักในงานศิลปะทั้งมวลในการสร้างจึงสร้าง “ศูนย์ทัศนศิลป์ ดำรง วงศ์อุปราช” ที่บ้านพักอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นศูนย์แสดงผลงานศิลปะต่อสาธารณะทั้งของตนเองและศิลปินทั่วไป นับเป็นประโยชน์ต่อชาวไทยโดยแท้จริง

เนื่องจากศูนย์ทัศนศิลป์ ดำรง วงศ์อุปราช ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านพัก ดังนั้นผู่ที่สนใจเข้าชมผลงานจิตรกรรมของ ผศ.ดำรง วงศ์อุปราช จึงควรแจ้งความประสงค์เข้าชมล่วงหน้า
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3433-1517

นาบ้านลานแหลม ตั้งอยู่ที่ 9/1 หมู่ 4 ถ.นครชัยศรี-ดอนตูม ต.วัดละมุด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เริ่มก่อตั้ง พ.ศ. 2542 โดย อ.เริงชัย แจ่มนิยม

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ต้องการถ่ายทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำนาในอดีต การจัดแสดงแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นอาคารเรือนไทยโบราณ ชั้นล่างเป็นสำนักงานของกลุ่มสตรีบริการเพื่อการพัฒนาบ้านลานแหลม ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์และสาธิตงานภูมิปัญญาไทย ชั้นบนเป็นห้องจัดแสดงพระพุทธรูป หนังสือเก่าและนิทรรศการหมุนเวียน

ส่วนที่สองเป็นพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวนาไทยโดย อาคารพิพิธภัณฑ์สร้างเป็น “เรือนไทยเครื่องผูกโบราณ” จัดแสดงและสาธิตวิถีชีวิตชาวนาไทย
พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวนาไทยบ้านลานแหลม เปิดให้ชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. การเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อแจ้งล่วงหน้า
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3429-6086, และ 08-7165-1681

5. พิพิธภัณฑ์เจษฎา เทคนิคมิวเซียม

พิพิธภัณฑ์เจษฎา เทคนิคมิวเซียม ตั้งอยู่ที่ 100 หมู่ 2 ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ก่อตั้งขึ้นโดยเอกชน บริหารงานโดยคุณเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ ซึ่งเป็นนักสะสมรถโบราณ ประเภทรถการ์ตูนและรถเก๋งยี่ห้อต่างๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลการ์ตูนและยานพาหนะต่างๆ ที่เคยมีใช้ในอดีตให้กับเยาวชนและผู้สนใจได้ศึกษาหาความรู้ รถการ์ตูนเป็นรถขนาดเล็ก มีความสวยงาม ช่วยในการประหยัดพลังงาน จึงเหมาะสมอย่างยิ่งกับผู้ต้องการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์จัดแสดงรถการ์ตูน รถเก๋งโบราณ รถมอเตอร์ไซด์ รถยนต์แปลก รถแท็กซี่ รถจักรยานสองล้อและสามล้อ ทั้งของไทยและของต่างประเทศ เพื่อให้เห็นวิวัฒนาการของรถประเภทต่างๆ สำหรับรถสะสมที่เก่าแก่ที่สุดเป็นรถปี ค.ศ. 1929-ปัจจุบัน มีรถประเภทต่างๆ สะสมอยู่และจัดแสดงให้ชมมากกว่า 300 คัน และบางคันสามารถใช้งานได้ตามปกติ
พิพิธภัณฑ์เจษฎา เทคนิคมิวเซียม เปิดให้เข้าชมระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เว้นวันหยุดราชการ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม แจ้งความประสงค์เข้าชมล่วงหน้าได้
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-2883-2880 ต่อ 300 และ 0-3433-9468

6. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกลางคูเวียง

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกลางคูเวียง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 ต.สัมปทวน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยมีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวัดกลางคูเวียง คือ หม้อยาลูกใหญ่ที่สุดในโลก

เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของวัดและจัดใต้ถุนที่วางหม้อยาใช้ทำเป็นที่อบสมุนไพรในบางครั้ง
นอกจากนั้นที่กุฏิพระครูโสภณสาธุการ เจ้าอาวาสวัดกลางคูเวียง ซึ่งเป็นสถานที่ให้การรักษาโรงด้วยยาสมุนไพร ยังเป็นแหล่งสะสมนาฬิกาตั้งพื้นและแขวนผนังโบราณจำนวนมาก โดยเจ้าอาวาสวัดกลางคูเวียงเปิดเผยว่า นาฬิกาทุกเรือนยังสามารถใช้งานได้จริง และมีโครงการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ในโอกาสต่อไป

ผู้ที่สนใจนาฬิกาตั้งพื้นและแขวนผนังโบราณ สามารถเข้าชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆสอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3431-1858

7. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกลางบางพระ

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกลางบางพระ ตั้งอยู่เลขที่ 86 หมู่ 4 ต.บางพระ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นวัดที่อยู่ระหว่าง “กลาง” วัดบางพระกับวัดศรีมหาโพธิ์(เอกสารบางฉบับกล่าวว่าอยู่กลางระหว่างวัดบางพระกับวัดละมุด) จึงได้รับการขนานนามว่า “วัดกลางบางพระ”

วัดกลางบางพระจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญ ซึ่งผู้ที่สนในเข้าเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะจะมีเจ้าหน้าที่ของวัดแนะนำเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับวัดและประวัติของเจ้าอาวาสของวัด

แหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญประกอบด้วย ประกอบด้วย โบสถ์ วิหาร พระพุทธรูปสำคัญทั้งในโบสถ์ วิหาร และลางกลางแจ้งพิพิธภัณฑ์เครื่องมือเกษตรกรรมพื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยล้านปี เจดีย์พระเกศจุฬามณี อุทยานสวนป่า พิพิธภัณฑ์ตาลปัตรพัดยศชั้นต่างๆ
การเข้าชมแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ ของวัดกลางบางพระ สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3423-9225

8. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าใน

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าใน อยู่ที่ ต.ท่าพระยา อ.เมือง จ.นครปฐม วัดท่าในเป็นวัดเก่าแก่

สันนิษฐานว่าสร้างสมัยทวารวดี มีปูชนียสถานที่สำคัญเหมาะสำหรับนักเรียน นักศึกษาและผู้ที่สนใจวิชาประวัติศาสตร์ คือ เจดีย์เก่าสมัยทวารวดีซึ่งมีอยู่ 2 องค์ ที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และสามารถสืบค้น เปรียบเทียบ และร่วมกันกาแนวทางอนุรักษ์ให้เป็นมรดกของจังหวัดนครปฐมต่อไป
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3433-2623

9. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดไทร

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดไทร อยู่ที่ ต.ท่ากระชับ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

วัดไทรมีปูชนียสถานที่สำคัญเหมาะสำหรับนักเรียนนักศึกษา และผู้ที่สนใจ เรื่อง สถาปัตยกรรมไทย คือเจดีย์ทรงปรางค์แบบโบราณ พระอุโบสถแบบทรงจีนโบราณและกุฏิแบบโบราณ ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2460 สำหรับรองรับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
นอกจากเป็นโบราณสถานแล้ว วัดไทรยังมีเครื่องตั้งศพโบราณทำด้วยไม้ ใช้สลักสอดเข้ากันโดยไม่ใช้ตะปู มีแห่งเดียวในประเทศไทย ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3423-0354

10. พิพิธภัณฑ์หินอ่อนพื้นบ้านหลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ

พิพิธภัณฑ์หินอ่อนพื้นบ้านหลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ ตั้งอยู่ที่วัดบางพระ เลขที่ 1 ต.บางแก้วฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

วัดบางพระเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของอำเภอนครชัยศรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย วัดนี้จึงมีโบราณวัตถุสะสมเป็นจำนวนมาก ประกอบกับ พระอุดมประชานารถ (หลวงพ่อเปิ่น) อดีตเจ้าอาวาส เป็นพระที่มีลูกศิษย์เคารพนับถือเป็นจำนวนมาก วัดบางพระจึงสร้างพิพิธภัณฑ์ที่สร้างด้วยหินอ่อนขึ้นทั้งหลัง ชื่อว่าพิพิธภัณฑ์หินอ่อนพื้นบ้านหลวงพ่อเปิ่นเพื่อจัดเก็บวัตถุโบราณของวัด และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติของหลวงพ่อเปิ่น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดแสดงสิ่งของต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมวัดและสอบถามความคืบหน้าของพิพิธภัณฑ์ได้ทุกวัน
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3423-9066, 0-3428-9333

11. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดประชานาถ

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดประชานารถ อยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีน หมู่ 1 ต.ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม สร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย

วัดประชานารถ มีปูชนียสถานที่สำคัญต่อการศึกษาทางประวัติศาสตร์ คือเจดีย์ทรงปรางค์ที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากรแล้ว
ผู้ที่สนใจเข้าชมได้ทุกวัน สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3433-1648

12. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดละมุด

วัดละมุด ตั้งอยู่ที่ ต.วัดละมุด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลายหรือสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญธรรมาสน์ และกุฏิสงฆ์เรือนไทย เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางของการบำเพ็ญกุศลและการศึกษา

วัดละมุดมีปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ อุโบสถ หลังคาทรงโรงชั้นเดียว มุงกระเบื้องดินเผาหน้าบันประดับด้วยเบญจรงค์ พระประธานปางสมาธิ สมัยอู่ทอง วิหารทรงไทยเสานางเรียง พระประธานทรงเครื่องขนาดใหญ่ สมัยอู่ทอง และพระเจดีย์จุฬามณี
ผู้ที่สนใจเข้าชมปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุของวัดละมุดได้ทุกวัน
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3438-9382

13. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดศรีมหาโพธิ์

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดศรีมหาโพธิ์ ตั้งอยู่ที่ ต.ศรีมหาโพธิ์ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนกลางในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ

วัดศรีมหาโพธิ์ มีปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อแดงแสงกายสิทธิ์ เป็นประติมากรรมสมัยอยุธยาตอนกลาง วิหารสมัยอยุธยาซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสลักศิลาแลงสมัยอยุธยาจำนวน 9 องค์ นอกจากนั้นยังเป็นวัดที่มีเจ้าแม่กวนอิมสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ด้วย
ผู้ที่สนใจเข้าชมปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุของวัดศรีมหาโพธิ์ได้ทุกวัน
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3438-9008

14. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสำโรง

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสำโรง ตั้งอยู่ในวัดสำโรง เลขที่ 21 หมู่ 3 ต.วัดสำโรง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2542 โดยเจ้าอาวาสและชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งขึ้น แบ่งการจัดแสดงเป็น 2 อาคาร ดังนี้
อาคารหลังแรกแบ่งการจัดแสดงเป็นหมวดหมู่ คือ ส่วนที่ 1 ครัวโบราณ

ส่วนที่ 2 หัตถกรรมพื้นบ้าน ส่วนที่ 3 อุปกรณ์ตวงข้าว ส่วนที่ 4 เครื่องมือการทำนา ส่วนที่ 5 เครื่องมือจับสัตว์น้ำ และส่วนที่ 6 เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด อาคารหลังที่ 2 จัดแสดงอุปกรณ์เครื่องมือในการทำนา และเป็นที่จัดแสดงเรือประเภทต่างๆ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสำโรง เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3423-9489

15. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสิงห์

วัดสิงห์ ตั้งอยู่ที่ ต.บางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นวัดเก่า สร้างขึ้นปลายสมัยทวารวดี
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของวัดสิงห์คือเจดีย์ทรงลังกา

ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ ผู้ที่สนใจ เข้าเยี่ยมชมปูชนียสถานของวัดสิงห์ได้ทุกวัน
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3433-2622

16. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดห้วยตะโก

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดห้วยตะโก ตั้งอยู่ในวัดห้วยตะโก ต.พะเนียด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เจ้าอาวาสต้องการจัดแสดงให้เห็นถึงชีวิตและวัฒนธรรมของชาวพะเนียด

โดยแบ่งส่วนของการจัดแสดงออกเป็น 5 อาคาร อาคารหลังที่ 1 แบ่งเป็นฐานความรู้เรื่องต่างๆ มุมครัวไทย มุมผ้าไทย มุมยารักษาโรค มุมบ้านไทย อาคารที่ 2 เป็นการจัดนิทรรศการหมุนเวียนทางพุทธศาสนา อาคารที่ 3 ชื่อ ไตรรงค์ ไตรรัตน์ เป็นอาคารจัดนิทรรศการถาวร เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อาคารที่ 4 เป็นการจัดแสดงหนังสือพระราชนิพนธ์ของ ร.6 มุมหนังสือเก่า ของสะสม อาคารที่ 5 เป็นหอพระไตรปิฎก ชั้นล่างแสดงนิทรรศการเรื่องไตรภูมิพระร่วง
ขณะนี้พิพิธภัณฑ์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตามที่วางแผนไว้แต่สามารถเปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3433-2641, 08-6623-2148

อำเภอบางเลน

1. พิพิธภัณฑ์วิถีชาวนาลุ่มน้ำนครชัยศรี

พิพิธภัณฑ์วิถีชาวนาลุ่มน้ำนครชัยศรี ตั้งอยู่ที่วัดสุขวัฒนาราม ต.บางระกำ อ.บางเลน
จ.นครปฐม เริ่มจากการที่วัดสุขวัฒนารามจัดแสดงของใช้พื้นบ้าน เรียกว่า พิพิธภัณฑ์ของโบราณพื้นบ้าน

จนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากนักวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยกันพัฒนาปรับปรุงการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ขึ้นใหม่ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑ์วิถีชาวนาลุ่มน้ำนครชัยศรี โดยมุ่งหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชนและผู้สนใจทั่วไป เกิดความรู้ความสนใจในเรื่องเกี่ยวกับเกษตรกรรม และท้องถิ่นบางระกำ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการร่วมมือกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาคารจัดแสดงเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว จัดแสดงขั้นตอนการทำนาตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงขั้นสุดท้าย

โดยมุมจัดแสดงแบ่งชัดเจนออกเป็น มุมเตรียมกล้า, เตรียมดิน, เตรียมน้ำ, ดำนา, เก็บเกี่ยว, สีข้าว และทำกิน ด้านหลังของส่วนเก็บเกี่ยวโบราณวัตถุ พระพุทธรูป และวัตถุทางวัฒนธรรมอื่นๆ
พิพิธภัณฑ์วิถีชาวนาลุ่มน้ำนครชัยศรี วัดสุขวัฒนาราม เปิดให้ชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3427-6330 และ 0-3427-6393

2. อนุสรณ์สถาน 3 เหล่าทัพ

อนุสรณ์สถาน 3 เหล่าทัพ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำม่าจีน ต.บางระกำ อ.บางเลน จ.นครปฐม จัดสร้างอนุสาวรีย์ โดยนางอนะ วงศ์สรรพ์ และนายธนพัฒน์ โพธิ์สว่าง เพื่อเทิดพระเกียรติทหาร 3 เหล่าทัพ ประกอบด้วย
จอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช พระบิดาแห่งกองทัพบกไทย
พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภาเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิกาแห่งกองทัพเรือไทย
จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย
โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดสร้าง เพื่อน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านในการปกป้องผืนแผ่นดินไทยมาจนตราบเท่าทุกวัน
สอบถามรายละเอียดที่ อบต.บางระกำ

3. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดลำพญา

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดลำพญา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน เลขที่ 25 หมู่ 5 ต.ลำพญา อ.บางเลน จ.นครปฐม

เป็นอาคารทรงไทยใต้ถุนสูง ชั้นล่างจัดแสดง เรือพื้นบ้านแบบต่างๆ เครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร เช่น เครื่องสีข้าว คันไถ รูปปั้นควายจำลอง เป็นต้น ชั้นบนจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ประเภทต่างๆ เช่น เครื่องลายคราม เครื่องแก้ว เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือจับปลา เครื่องมือชั่งตวงวัด เครื่องจักสาน ภาชนะสังกะสีเคลือบ เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดลำพญาเปิดให้เข้าชมในวันเสาร์และวันอาทิตย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3439-1626 และ 0-3439-1985

อำเภอพุทธมณฑล

1. พิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนา พุทธมณฑล

พิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ในพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เป็นโครงการหลักซึ่งอยู่ในแผนแม่บทของการจัดสร้างพุทธมณฑล เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการศึกษาค้นคว้า ศูนย์รวมจิตใจ และเผยแพร่พระพุทธศาสนา

ซึ่งรัฐบาลได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนาขึ้น ณ พุทธมณฑล เพื่อถวายพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติ แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อปีพุทธศักราช 2535 ก่อสร้างแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2541

ห้องจัดแสดงประกอบด้วยหมวดพุทธานุสรณ์ หมวดธรรมมานุสรณ์ หมวดสังฆานุสรณ์ หมวดพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อให้พิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนา เปิดบริการทางวิชาการทางพระพุทธศาสนาทั้งในฐานะแหล่งการเรียนรู้ ศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เชื่อมโยงกับการศึกษาทั้งในระบบการศึกษานอกระบบตามอัธยาศัย
พิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนาเปิดให้เข้าชมทุกวัน โดยผู้ที่จะเข้าชมเป็นหมู่คณะ กรุณาติดต่อประสานงานล่วงหน้าที่ฝ่ายกิจการสำนักงานพุทธมณฑล
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-2441-0902 และ 0-2441-9012-3

2. สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เป็นหน่อยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีความพร้อมและศักยภาพในการศึกษาวิจัย และเผยแพร่ความรู้

จึงได้จัดทำ “พิพิธภัณฑ์” ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่รวบรวม อนุรักษ์และจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และแสดงประวัติความเป็นมาและผลงานวิจัยของสถาบันฯ ในรูปนิทรรศการ รวมทั้งการจัดกิจกรรมเสริมการศึกษาในโอกาสต่างๆ ด้วยพื้นที่ในการจัดแสดงแบ่งเป็น ส่วนของเรือนไทย ส่วนของห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวร ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการในรูปแบบของหุ่นจำลอง เรื่อง เอเชียอาคเนย์ศึกษาและไทยศึกษา สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ส่วนของห้องจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราว และส่วนของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง(สวนศิลาจารึก) ซึ่งสถาบันฯ ได้คัดเลือกศิลาจารึกที่บันทึกความรู้ต่างๆ ของมนุษยชาติในอารยธรรมโบราณมาจัดแสดงไว้ในบริเวณห้องโถงกลางแจ้ง ภายในอาคารของสถาบันฯ

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบทเปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 9.00-15.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากเข้าชมเป็นหมู่คณะกรุณาติดต่อล่วงหน้า ที่โทร. 0-2800-2328, 0-2800-2308-14 ต่อ 330

3. พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยโบราณข่างสิบหมู่ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง)

พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยโบราณข่างสิบหมู่ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) ตั้งอยู่ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) ถ.ศาลายา-บางภาษี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เป็นอาคารเฉลิมพระเกียรติสำหรับจัดแสดงนิทรรศการช่างศิลปะไทยโบราณ “ช่างสิบหมู่” ซึ่งส่วนมากจะเป็นผลงานนักเรียนที่เกิดจากการจัดการเรียนการสอนของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง)

ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) เกิดขึ้นจากสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการสนับสนุนโครงการกิจกรรมตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยโดยทรงให้ดำเนินการฟื้นฟูวิชาชีพช่างฝีมือ ซึ่งเรียกว่า “ช่างสิบหมู่” ขึ้น

ภารกิจของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) จึงเป็นการจัดฝึกอบรมวิชาชีพช่างศิลปะไทยให้แก่ประชาชนทั่วไปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งการจัดนิทรรศการช่างศิลปะไทยโบราณ “ช่างสิบหมู่” ในรูปนิทรรศการถาวรและนิทรรศการเคลื่อนที่ให้ประชาชนทั่วไปได้ชมเพื่อสร้างความตระหนัก ความหวงแหนในศิลปะไทย พิพิธภัณฑ์ฯ เปิดให้ชมในวันเสาร์และวันเวลาราชการ สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-2431-3623-4

4. พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย

พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย อยู่ภายในบริเวณหอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร เลขที่ 93 หมู่ 3 ถ.พุทธมณฑลสาย 5 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยตัวอาคารสร้างขึ้นตามแบบอาคารโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงที่เคยรุ่งเรืองและได้ชื่อว่าฮอลลิวู้ดแห่งสยามในอดีต

หอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร ได้รณรงค์ขอสนับสนุนจากบุคคลในวงการภาพยนตร์ไทยและประชาชนทั่วไปเพื่อรับบริจาคเงินและสิ่งของสำหรับการจัดแสดง ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี วัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ล้วนแต่เป็นวัตถุของจริงที่ทรงคุณค่าของผู้บริจาคทั้งสิ้น เช่น รางวันตุ๊กตาทอง กล้องถ่ายภาพยนตร์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น

ทำให้พิพิธภัณฑ์สามารถจัดแสดงให้เห็นประวัติความเป็นมาของภาพยนตร์ไทยในรอบร้อยปีที่ผ่านมาได้ เพื่อแสดงให้เห็นเกียรติภูมิของภาพยนตร์ไทย และเป็นแหล่งการเรียนรู้ตามอัธยาศัยและเรียนรู้ตลอดชีวิตของสาธารณชนได้ด้วย
พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย ยังอยู่ในขั้นทดลองเปิดให้ชมโดยเปิดให้ชมทุกวันเสาร์ เวลา 15.00-18.00 น. โดยแบ่งการชมเป็นรอบ ๆ ละประมาณ 12 คน ปิดท้ายด้วยการชมภาพยนตร์ที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว รายละเอียดสอบถามที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ โทร. 0-2441-0263-4 กด 101

5. ศูนย์ศิลปะและการช่างไทย

ศูนย์ศิลปะและการช่างไทย ตั้งอยู่เลขที่ 93 หมู่ 3 ถ.พุทธมณฑลสาย 5 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เป็นหน่วยงานใหม่สังกัดสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2543 เพื่อสนองตามพระราชกระแสรับสั่งใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานให้กรมศิลปากรจัดหาแนวทางสืบทอด ฟื้นฟู อนุรักษ์ เผยแพร่และส่งเสริมงานช่างศิลป์ไทย

หน้าที่หลักของศูนย์ศิลปะและการช่างไทย จึงได้แก่ การให้บริการเพื่อการศึกษา ค้นคว้าข้อมูลด้านช่างศิลปกรรมของไทยทุกสาขา จัดแสดงนิทรรศการถาวร และหมุนเวียน ให้การฝึกอบรมศิลปะ จัดอภิปราย บรรยาย ประชุม สัมมนาและอบรม หลักสูตรระยะสั้นด้านศิลปกรรม สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-2482-1399 โทรสาร 0-2482-1399

อำเภอสามพราน

1. สวนศิลปะมีเซียม ยิบอินซอย

สวนศิลปะมีเซียม ยิบอินซอย เป็นสวนศิลปะส่วนบุคคล ตั้งอยู่เลขที่ 38/9 ถ.พุทธมณฑล สาย7 ต.หอมเกร็ด อ.สามพราน จ.นครปฐม บริเวณสวนเป็นที่เก็บและแสดงผลงานประติมากรรมของคุณมีเซียม ยิบอินซอย ซึ่งจัดแสดงไว้เพื่อประโยชน์แก่นักศึกษาและผู้ที่สนใจทั่วไป

สวนศิลปะมีเซียม ยิบอินซอย สามารถเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. แต่เนื่องจากสวนศิลปะมีเซียม ยิบอินซอย เป็นบ้านและส่วนส่วนบุคคล ดังนั้นผู้ที่จะเข้าไปชมจึงควรขออนุญาตก่อนล่วงหน้า
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-2213-2027, 0-3421-3792

2. พิพิธภัณฑ์และศูนย์ศึกษากิจการตำรวจ

พิพิธภัณฑ์และศูนย์ศึกษากิจการตำรวจ ตั้งอยู่ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน
อ.สามพราน จ.นครปฐม จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์จัดเก็บรวบรวมข้อมูล และศึกษา ค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์และการพัฒนากิจการตำรวจและกิจการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

สำหรับนักเรียนนายร้อยตำรวจ นักศึกษา และประชาชนที่สนใจทั่วไป และเป็นอนุสรณ์ที่ระลึกในโอกาสที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจได้สถาปนาครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2544 การจัดแสดงแบ่งเป็น ห้องจดหมายเหตุ ห้องประวัติและการพัฒนากิจการตำรวจ ห้องประกาศเกียรติคุณ ห้องฉายสื่อผสมระบบมัลติเดียและพื้นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการ
พิพิธภัณฑ์และศูนย์ศึกษากิจการตำรวจ เปิดให้นักศึกษา และประชาชนที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะโดยประสานงานล่วงหน้าที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน อ.สามพราน จ.นครปฐม
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3431-2009

3. พิพิธภัณฑ์วัดบางช้างใต้

พิพิธภัณฑ์วัดบางช้างใต้ ตั้งอยู่ที่วัดบางช้างใต้ หมู่ 1 ต.บางช้าง อ.สามพราน จ.นครปฐม อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารทรงไทยใต้ถุนสูงเดิมเป็นหอฉัน ชั้นบนจัดแสดงข้าวของสะสมของวัด และของที่ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาอุทิศให้วัด

วัตถุที่จัดแสดง ได้แก่ พระพุทธรูปโบราณ พระบุเงิน ตาลปัตร รอยพระพุทธบาทจำลอง คัมภีร์ใบลาน หีบพระธรรม ตู้พระธรรม ภาพถ่ายเก่าของวัด เครื่องลายคราม เครื่องปั้นดินเผา ตู้ไม้แกะสลัก เป็นต้น โดยในส่วนของพระพุทธรูปโบราณ พระบุเงิน และสิ่งของที่มีค่าทางวัดสร้างกรงเหล็กครอบไว้เพื่อป้องกันการสูญหาย ส่วนชั้นล่าง เดิมจะจัดแสดงเรือพื้นบ้านที่วัดเก็บเอาไว้จำนวนมาก แต่เนื่องจากพระครูอรุณธรรมวิสุทธิ์ รองเจ้าอาวาสองค์ก่อนผู้ริเริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์มรณภาพเสียก่อน งานจึงหยุดชะงักไป

ปัจจุบันจึงดัดแปลงเป็นที่เก็บของของวัดและชิ้นส่วนเรือพื้นบ้านบางส่วน
เนื่องจากงานพิพิธภัณฑ์ขาดผู้สานงานต่อทำให้งานหยุดชะงักไป ประกอบกับปัญหาเรื่องความปลอดภัยของโบราณวัตถุต่างๆ ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์วัดบางช้างใต้จึงไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม นอกจากจะทำหนังสือขออนุญาตแจ้งมายังวัดก่อน
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3431-1811

4. พิพิธภัณฑ์จ่าง แซ่ตั้ง

พิพิธภัณฑ์จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 29/5 หมู่2 ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม มีลักษณะเป็นบ้านพักอาคารเรือนไม้ 2 ชั้น ชั้นบนเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงานของจ่าง แซ่ตั้ง แสดงให้เห็นพัฒนาการของงานเขียนภาพของจ่าง ตั้งแต่สมัยเริ่มต้นการเขียนภาพเหมือนจนถึงรูปแบบของงานในสมัยปัจจุบัน
ผลงานเด่นๆ ชิ้นสำคัญของจ่าง จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกือบทั้งสิ้น ชั้นล่างเป็นห้องเก็บบทกวี และผลงานชิ้นอื่นที่ไม่ได้จัดแสดง
พิพิธภัณฑ์จ่าง แซ่ตั้ง เปิดให้ผู้สนใจงานศิลปะเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่กรุณาติดต่อล่วงหน้าที่ คุณทิพย์ แซ่ตั้ง โทร. 08-1839-0212, 0-2811-9628

5. พิพิธภัณฑ์โรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา

พิพิธภัณฑ์โรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา ตั้งอยู่บนอาคาร 5 โรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา อ.สามพราน
จ.นครปฐม เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2523 จากการสะสมเหรียญกษาปณ์และแสตมป์ของนายสัญญา สุดล้ำเลิศ และนายกมล ประทีปธีรานันต์ อาจารย์โรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา ผู้สนใจงานพิพิธภัณฑ์ที่ห้องสมุด อาคาร 2 ชั้น 3

ต่อมาในปี 2529 นายประสก มนุญญวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยาในขณะนั้นและอาจารย์อีกหลายท่านต่างเห็นถึงความสำคัญของงานนี้ จึงร่วมกันสนับสนุนอย่างเต็มที่ จนกระทั่งของสะสมมีมากขึ้นและย้ายห้องจัดแสดงหลายครั้ง จนมาจัดแสดงที่ อาคาร 5 ในปัจจุบัน

วัตถุประสงค์หลักของพิพิธภัณฑ์โรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยาในปัจจุบัน คือ เป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุและสิ่งของต่างๆ ไว้เพื่อการศึกษา ส่งเสริมให้ผู้สนใจเกิดความซาบซึ้งและรู้ถึงคุณค่ามรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาติไทยและใช้เป็นที่ศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ในโอกาสต่อไป
เนื่องจากพิพิธภัณฑ์โรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยาไม่ได้เปิดทุกวัน พิพิธภัณฑ์จะเปิดให้ผู้ที่แจ้งความประสงค์ขออนุญาตเข้าชมล่วงหน้าในวันและเวลาราชการ
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3431-1383 และ 0-3432-2756

6. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม ก่อตั้งขึ้นหลังการมรณภาพของท่าพระครูพิศาลสาธุวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดท่าพูด เจ้าคณะตำบลไร่ขิง เมื่อ พ.ศ.2540 โดยคณะกรรมการของวัดได้มีมติให้จัดทำพิพิธภัณฑ์ของวัดขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมวัตถุโบราณทั้งหลายโดยใช้หอไตรของวัดเป็นพิพิธภัณฑ์ชั่วคราว เปิดให้ประชาชนเข้าชมครั้งแรกในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นวันพระราชทานเพลิงศพอดีตเจ้าอาวาส

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูดมีอาคารจัดแสดง 3 หลัง ประกอบด้วย
อาคารหลังแรก เดิมเป็นหอไตรเป็นอาคารชั้นเดียวใต้ถันสูง ต่อมาดัดแปลงให้จัดแสดงสิ่งของทั้งชั้นบนและล่าง สิ่งของสำคัญที่นำมาจัดแสดงไว้ได้แก่ พระยานมาศ กระโถนถมปัทม์ และหัวเรือกัญญา ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราชทานแก่หลวงพ่อรด เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดท่าพูด เป็นต้น ชั้นบนจัดแสดงพระพุทธรูป สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ชาวบ้านนำมาถวายวัด
อาคารหลังที่สอง เดิมเป็นกุฏิของอดีตเจ้าอาวาส (พระครูพิศาลสาธุวัฒน์) เป็นอาคารไม้สองชั้น ชั้นล่างจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของพระครูพิศาลสาธุวัฒน์ เครื่องลายคราม ธนบัตร ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

ส่วนชั้นบนได้จัดเป็นคลังวัตถุของพิพธภัณฑ์
อาคารหลังที่สาม เป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง เดิมเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมของวัด ชั้นบนจัดแสดงตู้พระธรรมลายรดน้ำ ตาลปัตร เป็นต้น ส่วนชั้นล่าง จัดแสดงเครื่องสูบน้ำ รุ่นต่างๆ ซึ่งชาวบ้านนำมาถวายวัดเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด เปิดให้เข้าชมทุกวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่กรุณาติดต่อล่วงหน้า
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3428-8852, 08-1941-6637 และ 08-1009-5527

7. ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" อำเภอสามพราน

ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอสามพราน ตั้งอยู่บนที่ดินของวัดไร่ขิง เลขที่ 52 ม.2 ต.ไร่ขิง อำเภอสามพราน จ.นครปฐม ตั้งขึ้นโดยสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ดำเนินงานจัดสร้างเพื่อ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบพระนักษัตร

โดยได้รับความอุปการะค่าใช้จ่ายการก่อสร้างและดำเนินงานทั้งหมดจากวัดไร่ขิง และประชาชนในจังหวัดนครปฐม แบ่งพื้นที่ในการจัดแสดงดังนี้
ชั้นที่ 1 จัดเป็นห้องอเนกประสงค์ ห้องเด็กและครอบครัว ห้องวารสาร ห้องหนังสือทั่วไป ห้องศาสนาบาลีศึกษาและปูชนียบุคคล ห้องการแพทย์และสุขภาพ ห้องจังหวัดนครปฐม
ห้องกฤตภาค
ชั้นที่ 2 จัดเป็นโถงกลาง ห้องเฉลิมพระเกียรติ ห้องหนังสือพระราชนิพนธ์ในราชวงศ์จักรี ห้องภูมิปัญญาท้องถิ่น ห้องหนังสืออ้างอิงและงานวิจัย ห้องอาชีพ กศน. มสธ. ม.รามคำแหง ห้องอิเล็กทรอนิกส์และโสตทัศนศึกษา ห้องบรรณารักษ์ ห้องประชุม

ชั้นที่ 3 จัดทำเป็นนิทรรศการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาท้องถิ่น เปิดให้บริการเฉพาะหมู่คณะ จัดทำห้องประชุมขนาดใหญ่และมีแผนจะดำเนินการให้เป็นศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาท้องถิ่นอย่างครบวงจร
ชั้นที่ 4 จัดทำเป็นห้องพักสำหรับผู้เข้าประชุมหรือฝึกอบรมจำนวน 26 ห้อง
ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอสามพราน เปิดให้ประชาชนทั่วไปมีสิทธิใช้บริการห้องสมุดโดยเท่าเทียมกัน โดยต้องสมัครเป็นสมาชิกตามระเบียบของห้องสมุด การเข้าชมเป็นหมู่คณะ สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3422-5197 โทรสาร. 0-3422-5195

8. พิพิธภัณฑ์วัดไร่ขิง

พิพิธภัณฑ์วัดไร่ขิง อยู่ในบริเวณวัดไร่ขิง ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน อ.สามพราน จ.นครปฐม เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2535 โดยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ 2 ชั้น

ในพิพิธภัณฑ์มีโบราณวัตถุสมัยต่างๆ เช่น ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี อู่ทอง สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนสมัยโบราณ ภาพจิตรกรรมฝาผนังสถานที่สำคัญต่างๆ ในประวัติศาสตร์ ประเพณีที่สำคัญ โดยเริ่มเขียนตั้งแต่ พ.ศ. 2537 ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์วัดไร่ขิงยังดำเนินการไม่เรียบร้อยสมบูรณ์ จึงยังไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้
สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3432-3685 โทรสาร. 0-3431-1384

9. พิพิธภัณฑ์วัดสรรเพชญ

วัดสรรเพชญ ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ 5 ต.ยายชา อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นวัดเก่าแก่อายุประมาณ 200 ปีเศษ สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา
เป็นวัดที่พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากซึ่งวัดได้เก็บสะสมรวบรวมไว้นอกจากนั้นยังมีชาวบ้านนำโบราณวัตถุมาบริจาคให้จำนวนมาก วัตถุทางโบราณคดีที่มีการตรวจสอบแล้ว เช่น พระพุทธรูปโบราณ ใบเสมา พระเครื่อง ตู้พระธรรม หงส์ ธรรมาสน์ เรือมาดเก๋ง เป็นต้น ซึ่งขณะนี้วัดสรรเพชญกำลังจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมโบราณวัตถุเหล่านี้ให้เป็นหมวดหมู่ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ศึกษาหาความรู้ สืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของชุมชนต่อ สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0-3431-1800