ที่มาของแบบอาคาร

      รูปลักษณะของอาคารศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเมืองนครปฐมฯ นี้ เป็นแบบทวารวดีประยุกต์ ซึ่งผู้ออกแบบอาคารมีแนวคิดที่จะสืบสานอารยธรรมทวารวดีในอดีต กับอารยธรรมไทยปัจจุบันให้ผสานกลมกลืนกันเพื่อใช้เป็นสถานที่ดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยคริสเตียนจังหวัดนครปฐม ซึ่งบริเวณแถบนี้เคยเป็นแหล่งวัฒนธรรมสำคัญของยุคทวารวดีเก่าก่อน ผู้ออกแบบจึงแต่งเติมรูปลักษณ์ทวารวดีที่สันหลังคาด้วยตัวบราลี เสาหินสลักตามมุมผนังอาคาร ราวบันไดและซุ้มประตูทางเข้าอย่างสัญจิเจดีย์สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แต่ลวดลายสลักที่ซุ้มประตูแห่งนี้ เป็นภาพแกะสลักที่มีเรื่องราวของความเป็นไทยของคนในยุคนี้ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เกิดความแตกต่างไปจากบ้านคนทั่วไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางการศึกษาของคนในยุคหน้า

     ตัวอาคารเป็นสองชั้น แต่ดูภายนอกเหมือนมีชั้นเดียวแบบเรือนปั้นหยา ผู้ออกแบบจึงยกหลังคาให้สูงขึ้นจากกันสาด เพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยใต้หลังคาเพื่อขึ้นเป็นชั้นที่สอง ทำให้เกิดช่องระบายลมเป็นหน้าต่างกระจกมีแสดงสว่างภายในห้องโดยมิต้องใช้แสงไฟฟ้า ผนังอาคารชั้นล่างมีบานหน้าต่างกระจก เปิดให้ลมผ่านได้ และปิดได้เมื่อต้องการใช้เครื่องปรับอากาศพร้อมทั้งกันฝนสาดและแดดส่องได้ดี พื้นอาคารยกสูงจากพื้นดิน 1 เมตร เพื่อป้องกันความชื้นและเพิ่มความมั่นคงให้กับตัวอาคารด้วย
เจดีย์องค์ใหญ่ หมายถึง องค์ประปฐมเจดีย์ที่พระโสณะ และพระอุตระได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเผยแพร่พระพุทธศาสนา
มหามงกุฎ หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงอุปถัมภ์สร้างองค์พระปฐมเจดีย์ต่อเติมให้สูงใหญ่สง่างาม ตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
ก้อนเมฆ หมายถึง พระปฐมเจดีย์ที่สูงเสียดฟ้า

ผศ.นุกูล ชมภูนิช / ผู้ออกแบบ

แนวคิดในการออกแบบ

…………… นครปฐมเคยเป็นดินแดนอารยธรรมของพุทธศาสนา ที่ได้รับอิทธิพลอินเดียสมัยคุปตะ
ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 300 และต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ. 1100–1600 ในปลายยุคทวารวดีก็ถูกทิ้งร้าง นักโบราณคดีกล่าวว่าในยุคทวารวดีความยิ่งใหญ่และความรุ่งเรืองของอารยธรรมทวารวดีที่นครปฐมโดดเด่นกว่าแห่งใดๆในประเทศไทย จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงดำเนินการฟื้นฟู บูรณะมหาสถูปเจดีย์สำคัญองค์หนึ่งจนเป็นพระปฐมเจดีย์ดังที่เห็นในปัจจุบัน

     อารยธรรมทวารวดีจึงเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมไทยแห่งนครปฐมการที่มหาวิทยาลัยคริสเตียนจะสร้างศูนย์วัฒนธรรมขึ้น เพื่อการสืบสานและพัฒนาวัฒนธรรมไทยนั้น จึงควรที่จะสืบสานและพัฒนาศิลปะทวารวดีให้สอดคล้องกับความสำคัญของประวัติศาสตร์

     รูปแบบของอาคารศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเมืองนครปฐมฯ จึงเป็นการประยุกต์ศิลปะทวารวดีให้เหมาะกับวัสดุก่อสร้างในยุคนี้ เหมาะกับประโยชน์ใช้สอย และงบประมาณ แต่คงไว้ซึ่งความแตกต่างระหว่างบ้านกับศิลปสถานอย่างเห็นได้ชัด เช่น ตรงส่วนของหลังคาที่ทำเป็นคลีบเรียงกันเป็นแถวอย่างบราลีของสันหลังคาพุทธสถานในอดีต ตลอดจนเสาบัวตามมุมผนังของอาคารที่ตกแต่งไว้นั้นก็เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้มีความแตกต่างไปจากอาคารบ้านเรือนทั่ว ๆ ไป

ภาพสถูปสาญจิ ประเทศอินเดีย

.. นอกจากนี้ยังมีซุ้มประตูทางเข้าอาคารประยุกต์ตามแบบซุ้มทางเข้าสถูปสาญจิที่อินเดียสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่ทรงเผยแผ่ศาสนาพุทธมายังดินแดนสุวรรณภูมิและคงจะสร้างสถูปแบบนี้ที่นครปฐมด้วย

พื้นที่อาคาร

……………….. อาคารศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเมืองนครปฐมฯ เป็นอาคารที่มีรูปแบบประยุกต์จากสถาปัตยกรรมตามแบบศิลปะสมัยทวารวดีผสมผสานกับศิลปะการก่อสร้างแบบสมัยใหม่ เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวม 515 ตารางเมตร

… โดยชั้นล่างมีพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น 364 ตารางเมตร ประกอบด้วยห้องจัดนิทรรศการ 1 ห้อง ห้องทำงาน 3 ห้อง ห้องเก็บเอกสาร 1 ห้อง ห้องน้ำชาย 1 ห้อง ห้องน้ำหญิง 2 ห้อง และห้องน้ำคนพิการ 1 ห้อง ชั้นบนมีพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น 151 ตารางเมตร ประกอบด้วยห้องประชุมขนาดความจุ 70 ที่นั่ง 1 ห้อง และห้องควบคุมเสียง 1 ห้อง

บราลี

…. เป็นเครื่องตกแต่งสถาปัตยกรรมไทยที่เกี่ยวกับวังและวัด เป็นหัวเม็ดยอดแหลมใช้ครอบตามสันหลังคาเรียงกันไปตลอดหลังคา ทำด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบ ดีบุก และหินแกะสลัก หรือโลหะอื่น ๆ ก็ได้ที่ไม่เป็นสนิม พบได้ตามโบราณสถานของขอม และโบราณสถานสมัยทวารวดี ในสมัยอยุธยาพบที่พระที่นั่งสรรญเพชรปราสาท บราลีนี้มีประโยชน์เพื่อป้องกันนกอีแร้งมาเกาะ เพราะนกอีแร้งเป็นนกที่ไม่เป็นมงคลเพราะบริโภคซากศพ ดังนั้นอาคารที่เป็นมงคล
จึงต้องมีบราลีเนื่องจากบราลีมียอดแหลมทำให้นกอีแร้งไม่สามารถเกาะได้


… บราลีของศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเมืองนครปฐม มหาวิทยาลัยคริสเตียน ดัดแปลงตัวบราลีให้แปลกใหม่ต่างจากโบราณเพื่อให้เข้ากับรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบทวารวดีประยุกต์เท่านั้น ซึ่งช่วยลดความรู้สึกของหลังคาให้ดูไม่สูงเกินไป มีความลงตัว เหมาะกับสัดส่วนดีขึ้น

ราวบันไดลิ้นสิงห์

………. สิงห์เป็นสัตว์ที่เป็นเครื่องหมายแสดงถึงพระพุทธเจ้าศรีศากยมุนี ที่มีเชื้อสายของราชวงศ์ศากยะ สิงห์เป็นสัตว์ที่มีอำนาจและกำลัง ถือว่าเป็นตัวแทนของผู้พิทักษ์และความดี การแลบลิ้นออกมาเป็นราวบันไดจึงเป็นการแสดงอำนาจ คุ้มครองคนที่เข้าไปในอาคารนี้ ตามคติของยุคทวารวดี

เสาดอกบัวบาน

… ดอกบัวบานเป็นฐานรองรับพระพุทธเจ้าตอนประสูติ พระพุทธเจ้าจะประทับบนดอกบัวบานเสมอ ดังนั้นอาคารในพุทธศาสนาจึงมักตกแต่งหัวเสาและฐานอาคารด้วยดอกบัว ซึ่งเป็นคตินิยมตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงปัจจุบัน

เสามุมอาคาร

… เสามุมอาคารมีทั้งหมด 8 ต้น เป็นเสาแปดเหลี่ยมตกแต่งด้วยดอกบัวบานอันเป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ในพระพุทธศาสนายุคทวารวดีที่น่าจะปรากฏตามอาคารซึ่งเป็นโบราณสถานของเมืองทวารวดีนี้เมื่อ 2 พันปีมาแล้ว เสาชุดนี้หล่อด้วยปูนแล้วพ่นทรายให้ดูเหมือนเสาหินทรายสลักครั้งอดีต

ซุ้มประตู

… รูปแบบซุ้มประตูประยุกต์มาจากซุ้มประตูทางเข้าของสาญจิเจดีย์ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย อันเป็นพัฒนาการของศิลปะทวารวดีในประเทศไทย

ลวดลายของซุ้มประตูทางเข้าศูนย์วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยคริสเตียน  บอกเล่าถึงเรื่องราวส่วนหนึ่งของพืชพันธุ์ไม้  ผลไม้  สัตว์  และสังคมไทยซึ่งปรากฏที่นครปฐมในยุคพุทธศตวรรษที่ 26 (พ.ศ.2500 – 2600)

ภาพปูนปั้นบริเวณประตูทางเข้า

… ภาพปูนปั้นบริเวณประตูทางเข้าอาคารศูนย์วัฒนธรรมฯ เป็นภาพจำลองลักษณะ และการแต่งกายของชายและหญิงสมัยทวารวดี ซึ่งลักษณะการแต่งกายนี้ได้ถอดแบบมาจากศิลปะปูนปั้นรูปคนสมัยทวารวดีที่ขุดพบที่บริเวณจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และสุพรรณบุรี และสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการแต่งกายของคนในสมัยนั้น โดยอาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้จำลองภาพการแต่งกายดังกล่าวไว้

ภาพปูนปั้นบนผนังด้านหลังอาคาร

…… ภาพปูนปั้นบนผนังด้านหลังอาคารศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเมืองนครปฐมฯ เป็นภาพพระเยซูคริสต์กับฝูงแกะ ซึ่งเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงพระเมตตาขององค์พระเยซูต่ดสรรพสัตว์ ภาพเยซูคริสนี้ แสดงถึงความเชื่อของชาวคริสเตียน ที่อยู่ร่วมกับชาวพุทธอย่างสันติสุข และมีจุดหมายที่จะสร้างสันติสุขและคุณความดีให้เกิดแก่โลกมนุษย์ร่วมกัน

ภาพสลักหินทราย

…… ภาพสลักหินทรายประดับโคนเสาซุ้มประตูทางเข้าอาคารศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเมืองนครปฐมฯ มหาวิทยาลัยคริสเตียนต้นละ 3 ภาพ
                … ภาพต่างๆ  ที่ประดับโคนเสาซุ้มประตูทางเข้าอาคารศูนย์วัฒนธรรมฯ นี้  เป็นการบันทึกเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบันของสังคมไทยบางส่วนไว้
                … ตัวอย่างภาพที่แสดงนี้  เป็นภาพบันทึกถึงอาชีพการทำนาข้าวและการนำข้าวเปลือกมาตำเป็นข้าวสาร  แล้วหุงให้สุกด้วยเตาฟืนและหม้อดินเผา  อันเป็นวิถีชีวิตของชาวชนบทไทยในอดีตที่ย้อนหลังไปประมาณ 50 ปีและภาพบันทึกเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมของสังคมในมหาวิทยาลัยคริสเตียนและสังคมเมืองในปัจจุบัน