แหล่งข้อมูล : ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเมืองนครปฐม มหาวิทยาลัยคริสเตียน
จากการรวบรวมข้อมูลทางเอกสารและการสัมภาษณ์ประชาชนในเขตพื้นที่เมืองโบราณนครไชยศรี
สรุปปัจจัยที่ทำให้เมืองโบราณนครไชยศรีถูกทำลายได้เป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1 การพัฒนาทางกายภาพภายในเขตเมืองโบราณ โดยไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดแก่สภาพแวดล้อม
การพัฒนาทางกายภาพที่ส่งผลต่อการทำลายเมืองโบราณนครไชยศรีที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด
ได้แก่ การตัดถนนเพชรเกษมขนาด 8 ช่องทางจราจรผ่ากลางเมืองโบราณในปี 2478 ซึ่งขณะที่ดำเนินการก่อสร้างถนนในครั้งนั้นก็ได้พบศิลปวัตถุสมัยทวารวดีหลากหลายชนิดบริเวณวัดพระประโทน
ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองโบราณ และศิลปวัตถุที่พบบางอย่างก็ยังเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์
สำหรับเป็นข้อมูลทางการศึกษาอยู่จนถึงปัจจุบัน และถึงแม้ว่าทางการจะทราบข้อมูลการค้นพบศิลปวัตถุในบริเวณ
ก่อสร้างทางหลวงก็ไม่ได้ดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนเส้นทางการก่อสร้างให้เลี่ยงพื้นที่เมืองโบราณแต่อย่างใด
ในที่สุดถนนสำหรับคมนาคมขนาด 8 ช่องทางจราจรจึงตัดผ่ากลางเมืองโบราณนครไชยศรีและส่งผลกระทบ
ต่อภูมิทัศน์ของเมืองโบราณเป็นอย่างมาก
การพัฒนาทางกายภาพอีกประการหนึ่งได้แก่การถมคูคลองเพื่อนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น เช่น ทำถนนหรือปลูกสร้างอาคาร ทำให้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังเช่นคลองคูเมืองทั้ง 4 ด้าน จากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศพบว่ามีความกว้างถึง 60 เมตร แต่ปัจจุบันพื้นที่เขตคูเมืองถูกรุกล้ำเพื่อสร้างถนนและ
เป็นพื้นที่ทำกินจนเหลือขนาดความกว้างของคูเมืองไม่ถึง 20 เมตร
ภาพถ่ายทางอากาศแสดงอาณาเขตเมืองโบราณนครไชยศรี
ภาพถนนเพชรเกษมขนาด 8 ช่องทางจราจร ผ่ากลางเมืองโบราณ
ภาพคูเมืองปัจจุบันความกว้างไม่ถึง 20 เมตร
(ในสมัยทวารวดีมีความกว้าง 60 เมตร)
(ผศ.นุกูล ชมภูนิช และ อาจารย์สุพจน์ สุทธิศักดิ์ ลงพื้นที่สำรวจ)
ภาพการสร้างถนนรุกล้ำพื้นที่เมืองโบราณ (ในภาพเป็นบริเวรวัดพระเมรุ)
2. ประชาชนขาดความรู้เรื่องเมืองโบราณ
ประชาชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเมืองโบราณนครไชยศรี ยังขาดความรู้เรื่องเมือง
โบราณ โดยเฉพาะความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของแหล่งโบราณสถานที่สำคัญ เช่น วัดพระเมรุ พระปฐมเจดีย์ เจดีย์วัดพระงาม
พระประโทนเจดีย์ สังฆรัตนธาตุเจดีย์ (วัดธรรมศาลา) และเนินพระเจดีย์ (ดอนยายหอม) ซ้ำร้ายบางคนยังไม่เคยรู้จักชื่อ
“ทวารวดี” มาก่อนจากการสอบถามความรู้เรื่องเมืองโบราณกลุ่มตัวอย่างพบว่าประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์
ของวัดพระเมรุในระดับน้อยถึงน้อยที่สุดร้อยละ 61.77 พระปฐมเจดีย์ ร้อยละ 29.41 เจดีย์วัดพระงาม ร้อยละ 82.36
พระประโทนเจดีย์ ร้อยละ 65.01 จุลประโทนเจดีย์ ร้อยละ 76.77 สังฆรัตนธาตุเจดีย์ ร้อยละ 85.29
รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับเมืองโบราณในประเด็นอื่น ๆ ก็ยังจัดว่าค่อนข้างน้อย ซึ่งการขาดความรู้เรื่องเมืองโบราณอาจทำให้ประชาชนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในการทำลายศิลปวัตถุและโบราณสถาน และขาดความสำนึกที่จะร่วมอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณ เนื่องจากเห็นว่าสภาพของเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นเหมาะสมแล้ว
3. ความไม่ตระหนักถึงความสำคัญของเมืองโบราณของคนยุคปัจจุบัน
ความไม่ตระหนักถึงความสำคัญของเมืองโบราณ ส่งผลให้คนยุคปัจจุบันทำลายสภาพแวดล้อมและโบราณสถาน
ภายในเมืองโบราณเป็นอย่างมาก จากคำบอกเล่าของประชาชนที่มีอายุ 80 ปี ขึ้นไปซึ่งอาศัยอยู่ใน
เขตพื้นที่เมืองโบราณมาแต่เดิมเล่าว่า มีการทำลายเจดีย์โบราณสถานจำนวนมากเพื่อนำอิฐไปขายในการก่อสร้าง
ทางรถไฟสายใต้ ทำให้โบราณสถานขนาดใหญ่ เช่น วัดพระเมรุถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ส่วนเจดีย์ขนาดเล็กที่กระจายอยู่
ทั่วบริเวณเมืองโบราณก็ไม่เหลือหลักฐานให้ค้นคว้าศึกษาสิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งได้แก่ประชาชนจะไม่แจ้งข้อมูล
ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบเมื่อพบหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งในปัจจุบันมักจะพบหลักฐานที่เป็นศิลปวัตถุ เช่น พระพุทธรูป เศียรเทพเจ้าของพราหมณ์ เหรียญตรา เครื่องประดับต่าง ๆ รวมถึงเครื่องใช้ในครัวเรือน จากข้อมูลที่ผู้วิจัยได้รับทราบจากชาวบ้าน บางส่วนจะเก็บพระพุทธรูปที่พบไว้บูชาในบ้านถ้าหากพบเพียงองค์สององค์ หากพบเป็นจำนวนมากก็จะนำไปขายแลกเงิน
ให้แก่ร้านรับซื้อของเก่าส่วนสาเหตุที่ทำให้พบศิลปวัตถุส่วนใหญ่มาจากการไถหรือขุดที่ดินเพื่อการก่อสร้างหรือการเกษตร
การขุดลอกคูคลองนอกจากนี้อาจจะมีคนบางกลุ่มแอบขุดหาของโบราณตามแหล่งโบราณสถานส่งผลให้โบราณสถาน
เช่น วัดพระเมรุ และสังฆรัตนธาตุเจดีย์ที่วัดธรรมศาลาพังทลายอย่างรวดเร็ว ซ้ำร้ายกว่านั้นชาวบ้านบอกเล่าว่า
มีคนบางกลุ่มนำเครื่องมือที่ทันสมัยประเภทอุปกรณ์สำรวจเก็บกู้ระเบิดมาใช้สำรวจหาพระพุทธรูปและวัตถุมีค่า
ในบริเวณเมืองโบราณอีกด้วย
ภาพสังฆรัตนธาตุเจดีย์ (เจดีย์วัดธรรมศาลา)
4. การบำบัดน้ำเสียที่ไม่ถูกวิธีของฟาร์มเลี้ยงสัตว์
ในเขตพื้นที่เมืองโบราณนครไชยศรี มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะฟาร์มเลี้ยงหมูเป็นจำนวนมาก ฟาร์มเลี้ยงหมูที่ตั้งอยู่ใกล้ลำคลองได้ปล่อยน้ำเสียลงในลำคลอง ทำให้คลองคูเมืองซึ่งอยู่ในเขตตำบลพระประโทน
และตำบลธรรมศาลาและคลองอื่น ๆ เกิดน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง ซึ่งสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษเหล่านี้ทำให้คุณค่าของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณลดลงอย่างมาก
ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเมืองโบราณ
สภาพน้ำเน่าเสียที่เกิดจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปล่อยสิ่งปฏิกูลลงสู่ลำคลอง
5. การสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารสถานที่ต่าง ๆ ในเขตเมืองโบราณ
การสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารสถานที่ต่าง ๆ ในเขตพื้นที่เมืองโบราณโดยไม่มีการควบคุมเกี่ยวกับรูปแบบของอาคาร
ให้มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะทวารวดีปรากฏอยู่ รวมทั้งขาดการควบคุมเพื่อไม่ให้มีสิ่งก่อสร้าง
รุกล้ำพื้นที่โบราณสถานและคูคลองต่าง ๆ ทำให้เมืองโบราณนครไชยศรีขาดบรรยากาศความเป็นเมืองโบราณ กลายเป็นเมืองสมัยใหม่ และไม่มีสิ่งดึงดูดความสนใจให้บุคคลต่าง ๆ เกิดความตระหนักถึงสภาพความเป็นเมืองโบราณ
6. การออกโฉนดที่ดินพื้นที่เขตเมืองโบราณให้เป็นสิทธิ์ของเอกชน
พื้นที่ของเมืองโบราณนครไชยศรีบริเวณเขตโบราณสถาน เช่น วัดพระเมรุ และภายในเขตคูเมืองโบราณโดยรอบ ได้รับการจัดสรรให้เป็นที่ทำกินของเอกชน โดยการออกโฉนดที่ดินให้ครอบครองสิทธิ์ ทำให้การจัดระบบเพื่ออนุรักษ์เมืองโบราณทำได้ยาก และเขตพื้นที่ของโบราณสถานก็ลดน้อยลงไปมาก
คลองคูเมืองโบราณนครไชยศรีที่เคยกว้างถึง 60 เมตร
ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 20 เมตร
ภาพวัดพระเมรุมีพื้นที่เหลือเพียง 5 ไร่ ภายในขอบรั้วกั้น
(ผศ.นุกูล ชมภูนิช และ อาจารย์สุพจน์ สุทธิศักดิ์ ลงพื้นที่สำรวจ)
7. การไม่ขุดสำรวจทางโบราณคดี
พื้นที่เมืองโบราณนครไชยศรี ยังขาดการขุดสำรวจทางโบราณคดีจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดังนั้นแหล่งศึกษาเกี่ยวกับเมืองโบราณที่สำคัญจึงมีปรากฏเฉพาะฐานเจดีย์ขนาดใหญ่ที่พังทลายไม่หมด และศิลปวัตถุบางส่วนที่รวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ อ. เมือง จ. นครปฐม
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ
ซึ่งศิลปวัตถุเหล่านี้ได้มาจากการค้นพบโดยบังเอิญและการขุดสำรวจก่อน พ.ศ. 2500 แต่หลังจากนั้นได้มีการขุดค้นทางโบราณคดี
ในเขตพื้นที่เมืองโบราณน้อยมาก ทำให้เมืองโบราณนครไชยศรีขาดแหล่งศึกษาค้นคว้าที่จะช่วยกระตุ้นให้เยาวชน
และประชาชนให้ความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของเมืองโบราณแห่งนี้
8. การไม่ประกาศให้พื้นที่เมืองโบราณนครไชยศรีเป็นเขตโบราณสถานแห่งชาติ
เนื่องจากการไม่ประกาศให้พื้นที่ทั้งหมดของเมืองโบราณนครไชยศรีเป็นเขตโบราณสถานแห่งชาติ ทำให้พื้นที่ของเมืองโบราณแห่งนี้ได้รับการจัดสรรและออกโฉนดให้เอกชนเป็นผู้ถือสิทธิ์ครอบครองและนำที่ดิน
ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น สร้างที่อยู่อาศัย สร้างอาคารพาณิชย์ ทำการเกษตรปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้เมืองโบราณนครไชยศรีเปลี่ยนแปลงสภาพจากเมืองโบราณเป็นเมืองสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว
9. อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในสมัยรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้มีการพัฒนาประเทศหลาย ๆ ด้านไปตามความเจริญของชาติตะวันตก
ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งเร้าให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดในสังคมนานาชาติ เมื่อมีการพัฒนาประเทศ
ให้ทันกับความเจริญทางวัตถุของชาติตะวันตกทำให้เมืองโบราณสำคัญ ๆ ของไทยถูกมองว่าเป็นของล้าสมัย
และหาประโยชน์มิได้ ปล่อยให้มีการทำลาย รุกล้ำ มีการสร้างถนนหนทางเข้าไปในเขตโบราณสถาน และออกโฉนดที่ดินให้เอกชนครอบครองเพื่อใช้ประโยชน์ตามกระแสการพัฒนาตามสมัยใหม่
หัวกระดาษ
รายงานการวิจัยฯเมืองโบราณนครไชยศรี
รายงานการวิจัยฯเมืองโบราณนครไชยศรี
แหล่งข้อมูล : ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเมืองนครปฐม มหาวิทยาลัยคริสเตียน
แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณนครไชยศรีที่จะกล่าวต่อไปนี้
ผู้วิจัยได้ประมวลมาจากความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 20 ท่าน
โดยมีแนวทางที่จะส่งเสริมให้เมืองโบราณนครไชยศรีได้พัฒนาให้เหมาะสมกับความเป็นเมืองโบราณ
อันยิ่งใหญ่สมัยทวารวดี ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิมีความเห็นสนับสนุนแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณ
จากการตอบแบบสอบถาม รวมทั้งมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. ควรพิจารณาเกี่ยวกับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เขตเมืองโบราณฯ ถึงความเหมาะสมต่อสิ่งแวดล้อมทางศิลปะ
และธรรมชาติ (ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วย 100 %)
2. ควรควบคุมให้มีระบบการกำจัดสิ่งปฏิกูลจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เขตเมืองโบราณฯ และให้มีระบบบำบัดน้ำเสีย
อย่างเคร่งครัด เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อม (ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วย 100 %)
3. ควรขุดลอกคูเมืองโบราณโดยรอบ พร้อมทั้งกำจัดน้ำเสียและพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้สวยงาม สำหรับเป็นที่พักผ่อน
และท่องเที่ยว เช่น การล่องเรือชมเส้นทางคูเมืองสมัยทวารวดี (ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วย 100 %)
4. ควรออกกฎห้ามฟาร์มเลี้ยงสัตว์และโรงงาน ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในคลองคูเมืองโบราณ และคลองอื่น ๆ ในเขต
เมืองโบราณอย่างเด็ดขาด (ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วย 100 %)
5. สำนักพระพุทธศาสนา ควรเป็นแกนหลักในการสร้างภาพลักษณ์และเอกลักษณ์ในการดำเนินชีวิตตามแนวพุทธอย่าง
เข้มข้นกว่าจังหวัดอื่น ๆ ในฐานะที่เมืองนครปฐมเป็นแหล่งกำเนิดพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
(ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วย 100 %)
6. จังหวัดนครปฐมควรจัดอบรมให้ความรู้เรื่องเมืองโบราณ และการอนุรักษ์เมืองโบราณแก่ผู้นำชุมชนในพื้นที่
เขตเมืองโบราณ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง (ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วย 100 %)
7. ควรส่งเสริมให้มีการนำความรู้ เรื่องเมืองโบราณนครไชยศรีเป็นเนื้อหาในการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรท้องถิ่น
(ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วย 100 %)
8. ควรออกกฎเกี่ยวกับการสร้างบ้านเรือนและอาคารต่าง ๆ ที่จะสร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่บริเวณเมืองโบราณ ให้มีรูปแบบ
หรือสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมทวารวดีปรากฏอยู่ (ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วย 92.31 %)
พระพุทธศิลาขาว พบในบริเวณวัดพระเมรุ จำนวน 4 องค์
ปัจจุบัน องค์ที่ 1 ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ องค์ที่ 2 ประดิษฐานด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์
องค์ที่ 3 ประดิษฐานในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
องค์ที่ 4 ประดิษฐานที่พิพิธภัณฑแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
9. ควรห้ามประกอบกิจการใด ๆ ซึ่งเป็นอาชีพที่นำคนไปสู่อบายมุขซึ่งขัดกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ในเขตพื้นที่เมืองโบราณ (ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วย 92.31 %)
10. จังหวัดนครปฐมควรจัดทำเอกสารเผยแพร่ความรู้ เรื่องเมืองโบราณนครไชยศรีแก่ชาวจังหวัดนครปฐม
เป็นประจำตามความเหมาะสม (ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วย 92.31 %)
11. จังหวัดนครปฐมควรจัดกิจกรรมประกวด “ชุมชนนักอนุรักษ์เมืองโบราณ” แก่ชุมชนต่าง ๆ ในเขตพื้นที่เมืองโบราณ (ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วย 92.31 %)
12. ผู้ว่าราชการจังหวัด CEO ควรดำเนินการพัฒนาเมืองโบราณสมัยทวารวดีให้เป็นงานเด่นของจังหวัดนครปฐม พอ ๆ กับการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า (ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วย 92.31 %)
13.ควรออกกฎพิเศษสำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่บริเวณเมืองโบราณนครไชยศรีเพื่อการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ (ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วย 84.62 %)
14. ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมควรจัดงบประมาณ เพื่อสร้างสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมทวารวดี คือ ประตูเมืองบริเวณธรรมศาลาและสามแยกมาลัยแมน รวมทั้งสร้างธรรมจักรและกวางหมอบเป็น
ช่วง ๆ ตามแนวถนนหลวงบริเวณเขตเมืองโบราณ เพื่อแสดงถึงแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญของจังหวัดนครปฐม (ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วย 84.62 %)
15. วัดพระประโทณเจดีย์วรวิหาร วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร วัดพระงาม วัดดอนยายหอม และกรมศิลปากร ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ เจดีย์พระประโทน องค์พระปฐมเจดีย์ เจดีย์วัดพระงาม เจดีย์เนินพระ และเจดีย์วัดพระเมรุ กับผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตพื้นที่ดังกล่าว ควรจัดงบประมาณร่วมกันทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งประวัติศาสตร์ทวารวดีโดยด่วน เพื่อเกียรติภูมิของจังหวัดนครปฐม (ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วย 84.62 %)
16. องค์การบริหารส่วนจังหวัดและอบต. ในเขตพื้นที่เมืองโบราณควรเป็นผู้สร้างอุทยานประวัติศาสตร์ทวารวดี
ในพื้นที่บริเวณเมืองโบราณ โดยจำลองแบบโบราณสถานที่สมบูรณ์ (ตามแบบจินตนาการ)
และโบราณวัตถุที่สำคัญสมัยทวารวดีไว้ในอุทยานฯ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและการท่องเที่ยว
(ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วย 76.92 %)
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการอนุรักษ์
และพัฒนาเมืองโบราณนครไชยศรีจากผู้ทรงคุณวุฒิ
ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เสนอแนะแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณนครไชยศรี เพิ่มเติมจากแบบสอบถาม
รวมทั้งสิ้น 31 ประการ ดังนี้
ภาพพระประโทณเจดีย์
1. การจำลองแบบโบราณวัตถุควรทำ แต่เมืองโบราณจำลองแบบไม่ควรทำ เพราะแบบจินตนาการอาจทำให้คนทั่วไป
เข้าใจผิดว่าเป็นรูปแบบที่แท้จริง
2. ควรให้พ่อเมือง (ผู้ว่า CEO) ได้ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมในการพัฒนาเมืองโบราณ
โดยประสานจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์และดำเนินการขอสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด
3. ควรให้ประชาชนได้ทราบถึงประวัติศาสตร์และมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู อนุรักษ์เมืองโบราณ
4. ควรจัดงานในลักษณะตำนาน แสง สี เสียง เป็นปฏิทินท่องเที่ยว และนำรายได้มาดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์
และหาบริเวณที่มีความเหมาะสมบอกเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของอาณาจักรทวารวดี
5. ควรมีการจัดการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณนครชัยศรี (ไม่จำเป็นต้องมีคนมาก)
แต่เป็นผู้รู้และเกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางเป็นการเริ่มต้นก่อน เป็นแนวทางที่ยอมรับร่วมกันอันจะทำให้การดำเนินการราบรื่นขึ้น
และควรจัดเป็นเครือข่ายเมืองโบราณสมัยทวารวดีในเขตภูมิภาคตะวันตก เช่น ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรีและกาญจนบุรี
6. การอนุรักษ์เป็นสิ่งที่ดีงาม แต่การพัฒนาต้องดำเนินการควบคู่กันไปให้เหมาะสมกัน
7. การอนุรักษ์ต้องคำนึงถึง โลกาภิวัตน์ด้วย ต้องใจกว้างยอมรับการเปลี่ยนแปลง และปรับให้สอดคล้องกัน
8. ต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ ซึ่งต่อต้านการอนุรักษ์รูปแบบต่างๆต้องทำความเข้าใจให้ดีจึงจะไม่เกิดปัญหา
ขัดแย้งทางสังคมในภายหลัง
9. วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ของแต่ละท้องถิ่นก็ต่างๆ กันไปคงเปรียบเทียบไม่ได้ว่าใครดีกว่าใคร
10. หากเน้นการทำนุบำรุงควรคิดในเชิงสร้างสรรค์ดีกว่าการกล่าวว่าโทษใครผิดใครถูก ใครทำลาย
ซึ่งสาเหตุเหล่านี้เกิดจากการไม่มีกฎ กติกา เพื่อปกป้องโบราณสถานและวัฒนธรรมอันดีงาม ปล่อยให้เปลี่ยนแปลงไปตามเสรี
แบบไม่มีแนวทางและจุดยึดเหนี่ยวจนทำให้คนลืมอดีต ลืมประวัติศาสตร์
11. เห็นด้วยกับการที่จะมีความคิดในเชิงอนุรักษ์ ควรต้องร่วมมือกันทำ เพราะมันใหญ่เกินตัว ช้าเกินกาล
12. เงินวัดมีมากมายควรนำมาทำประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์บ้าง
13. โดยสภาพความจริงหากมีการจัดทำแบบจำลองขึ้นในพื้นที่หลายแห่งก็จะมีปัญหาเรื่องการจัดการการดูแล
การให้บริการทางการศึกษา การดูแลนักท่องเที่ยว แล้วสิ่งที่ทำขึ้นก็จะไม่เกิดประโยชน์ ควรจะอยู่ในสถานที่พร้อมจริง
และเป็นสถานที่เป็นศูนย์กลาง เช่น วัดพระประโทนเจดีย์ หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
14. การสร้างธรรมจักรและกวางหมอบ ตามแนวถนนหลวง เห็นว่า กวางหมอบและธรรมจักร เป็นเครื่องหมายแสดงถึง
ศาสนาพุทธ ควรจะอยู่ในที่อันสมควรเช่น วัดมากกว่า และยังมีศิลปะอื่นๆ ที่บอกถึงอารยธรรมทวารวดี สามารถจะสื่อออกมา
ให้ปรากฏเป็นรากเหง้าของนครปฐมได้
15. ควรพัฒนาฟื้นฟูเมืองโบราณควบคู่ไปกับด้านอื่นๆ ด้วย
16. การจะพัฒนาได้ต้องเริ่มต้นที่การให้ความรู้และตระหนักถึงความสำคัญ เพราะที่ผ่านมาขาดการสืบทอดความรู้ไปมาก
17. เมืองโบราณเป็นมรดกโลกและอารยธรรมของมนุษย์ได้ ถ้ามีองค์กรจากต่างประเทศเข้ามาสนับสนุนด้านวิชาการ
และงบประมาณก็จะสำเร็จได้เร็วขึ้น
18. ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ ควรเป็นรัฐบาลร่วมกับส่วนท้องถิ่น อย่าลืมว่าคนในพื้นที่ควรมีส่วนรับผิดชอบ
และต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นโครงการใหญ่ ระยะยาว 10 ปีก็ได้
19. ควรให้เจ้าของที่ดินมีส่วนร่วมสร้างอุทยานประวัติศาสตร์กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดและ อ.บ.ต. ในพื้นที่
20. ควรมีการกระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วม และสร้างจิตสำนึกในการรัก หวงแหน การร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณฯ
โดยการจัดประชุมเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง
ภาพถ่ายทางอากาศแสดงขอบเขตคูเมืองโบราณนครไชยศรี
21. ควรมีการติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะเพื่อหาข้อบกพร่องเพื่อนำมาแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น
22. ควรยอมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของชุมชนเพื่อนำมาปรับปรุง
23. ควรจัดประชุมสัมมนาแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณนครชัยศรีก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อหาแนวร่วม
และเพื่อจะได้ทราบว่าผู้ที่สนใจดังกล่าวเป็นใครบ้าง ควรจัดประชุมใหญ่โดยเชิญบุคคลจากศูนย์วัฒนธรรมต่าง ๆ
ก่อนเป็นอันดับแรก
24. ควรแต่งตั้งหรือคัดเลือกคณะกรรมการ ซึ่งควรมีหลายฝ่าย เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด
กรมศิลปากรสุพรรณบุรี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยคริสเตียน สภาวัฒนธรรมจังหวัด สถาบันวัฒนธรรมทุกอำเภอ หุ่นขี้ผึ้งไทย และที่สำคัญคือประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ
25. ในการดำเนินงานทั้ง 2 เรื่องควรมีงบประมาณ มีเอกสารแจก มีการจัดบรรยายโดยผู้ทรงคุณวุฒิจริงๆ มีการซักถามโต้ตอบ
เพื่อหาถึงประเด็นสำคัญของเรื่องที่จะทำตลอดจนปัญหาที่อาจส่งผลกระทบกระเทือนจากภายนอก หลังจากนั้นควรมี
การจัดพิมพ์เอกสารเผยแพร่ อาจมีการจัดนำชมสถานที่ต่างๆ การจัดนิทรรศการแสดงถึงความรุ่งเรือง และที่สำคัญได้มีบุคคลสำคัญระดับชาติ และนานาชาติ ให้ความสำคัญซึ่งได้ยินข่าวว่าอาจจะได้รับเกียรติเป็นมรดกโลก
26. ผู้ว่าราชการจังหวัด สภาวัฒนธรรมจังหวัด และมหาวิทยาลัยในจังหวัดนครปฐมควรเป็นแกนหลักและหาแนวร่วมให้มากที่สุด
เพื่องานจะได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพราะงานนี้มีความสำคัญระดับชาติต้องทำให้ดีที่สุดและที่สำคัญต้องถูกต้องที่สุด
ตามหลักการอนุรักษ์และพัฒนาแบบสากล ดังนั้นจึงต้องระดมพลังสมองบุคคลหลายฝ่ายอย่างรอบคอบด้วย
27 . น่าจะมีซุ้มนำเสนอข้อมูลของโบราณที่สำคัญ เช่นวัดพระเมรุ เจดีย์จุลประโทน เนินพระวัดดอนยายหอม
เนินวัดพระงาม เพื่อแสดงให้เห็นว่าแต่ละแห่งมีความสำคัญอย่างไร ไม่ใช่ เห็นแต่กองอิฐซึ่งผู้ผ่านไปมาไม่ทราบความเป็นมา
28. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของจังหวัดนครปฐม ควรจะใหญ่โตและมีห้องจัดแสดงศิลปวัตถุให้มากและยิ่งใหญ่
กว่าปัจจุบันและน่าจะใหญ่กว่าอู่ทอง เพื่อให้สมฐานะของเมืองหลวงแห่งอาณาจักรทวารวดี สำหรับสถานที่ตั้ง
ถ้าในบริเวณวัดพระปฐมเจดีย์ฯ ไม่อนุญาตให้ขยายก็ควรหาที่ใหม่
29. ควรสนับสนุนการค้นคว้าวิจัย ภาพในอดีตของเมืองโบราณนครไชยศรี ซึ่งรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5
เคยได้บันทึกไว้ว่าใหญ่โตที่สุดในบรรดาเมืองโบราณก่อนสมัยอยุธยา และพระองค์ท่านเคยได้มาพบด้วยพระองค์เอง
ก่อนจะถูกรื้อทำลายไปในช่วงร้อยปีเศษ จากการสร้างทางรถไฟสายใต้
30. ควรจัดทำหลักสูตร ความรู้ท้องถิ่นเรื่องเมืองนครไชยศรีและอาณาจักรทวารวดี
สำหรับการศึกษาภาคบังคับของนักเรียนในจังหวัดนครปฐม เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ความภาคภูมิใจ
และการมีส่วนร่วมในการรื้อฟื้นเมืองโบราณนี้ให้กลับคืนมาจนเป็นเมืองมรดกโลกอีกแห่งหนึ่ง
31. ควรจัดอันดับความสำคัญ งานเร่งที่ต้องรีบทำและงานที่ค่อยทำค่อยไป ทำหลายด้านจะต้องใช้เงินใช้พลังมาก ทำให้ผลงานไม่ชัดเจน
ธรรมจักร พบในบริเวณเมืองโบราณนครไชยศรีจำนวน 30 กว่าวง
(ปัจจุบันแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กทม.)
แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งประวัติศาสตร์สมัยทวารวดีในบริเวณเมืองโบราณนครไชยศรี ตามข้อเสนอแนะ
ของผู้ทรงคุณวุฒิที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เยาวชนและประชาชนในบริเวณเมืองโบราณนครไชยศรีเกิดความรู้ความเข้าใจ
และตระหนักถึงความสำคัญของเมืองโบราณในท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการร่วมมือกันดูแลรักษาเมืองโบราณ
อันทรงคุณค่าไม่ให้ถูกรุกล้ำทำลายไปมากกว่านี้ รวมทั้งจะช่วยให้เมืองโบราณแห่งนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป
การพัฒนาเมืองโบราณนครไชยศรีตามแนวทางที่เหมาะสมจึงจะเป็นผลดีต่อการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทวารวดี
รวมถึงสามารถพัฒนาแหล่งประวัติศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดนครปฐมได้