ความนำ

นาม

นาม คือ ชื่อที่ใช้สำหรับเรียกคน สัตว์ สิ่งของ การตั้งนามหรือตั้งชื่อต่างๆ เพื่อให้ทราบและเห็นลักษณะเฉพาะของคน สัตว์ สิ่งของเหล่านั้น ดังเช่น นามบุคคล หรือการตั้งชื่อบุคคล บิดามารดามักจะตั้งชื่อบุตรหลานให้ไพเราะต้องตามโฉลก ตามตำราเพื่อให้เป็นสิริมงคล เช่น

ชื่อ “ทุงษะเทวี” ก็เพราะเป็นเด็กหญิงที่เกิดในวังสงกรานต์ที่ตรงกับวันอาทิตย์ ซึ่งนางสงกรานต์ในปีนั้นมีชื่อว่า “ทุงษะเทวี” เป็นต้น ไม่เฉพาะชื่อของบุคคลเท่านั้นที่มีสาเหตุและที่มาต่างกัน ชื่อของสถานที่หรือนามบ้านนามเมืองในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งในวงวิชาการเรียกว่า “ภูมินาม” หรือ “ภูมินามวิทยา” ก็มีเหตุผลที่มาหลากหลายน่าสนใจยิ่ง

ภูมินาม

ภูมินาม หมายถึง นามบ้านนามเมือง นามสถานที่ต่างๆ ที่อยู่ในท้องถิ่นแต่ละแห่ง ซึ่ง
ภูมินามเหล่านั้นอาจจะมีที่มาจากต้นเหตุแตกต่างกันไป เช่น มาจากนิทาน นิยายประจำถิ่น ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความสอดคล้องทางภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ลักษณะกายภาพในท้องถิ่น ตลอดจนพืชพรรณต่างๆ ที่อยู่ในท้องถิ่น

เหตุที่มาของภูมินาม

ภูมินามในแต่ละท้องถิ่นนั้นมีเหตุผลที่มาที่ไปแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ของแต่ละท้องถิ่นที่ส่งผลให้เกิดเป็นชื่อภูมินามของตนเอง เพื่อให้เห็นภาพในปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลให้

          ภูมินามของแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันนั้น ผู้จัดทำจึงพอสรุปปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดเป็นชื่อ
ภูมินามของแต่ละท้องถิ่นไว้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้

1. ภูมินามที่เกิดขึ้นตามสภาพภูมิศาสตร์กายภาพสิ่งแวดล้อม
          สภาพภูมิศาสตร์กายภาพสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ลักษณะของดิน น้ำ พืช สัตว์ป่าป่าไม้ ภูเขา พื้นที่ราบสูง ที่ราบต่ำ ที่ดอน ที่ลุ่ม แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ลำธาร อ่าว ทะเล น้ำตก ฯ  ปัจจัยในด้านสภาพภูมิศาสตร์กายภาพสิ่งแวดล้อมนี้ เป็นเหตุผลสำคัญที่แต่ละท้องถิ่นนำมาตั้งเป็นชื่อภูมินาม เนื่องจากใช้ลักษณะของภูมิศาสตร์กายภาพที่ตนเองอาศัยอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งง่ายต่อการสังเกต เช่น บริเวณที่ตั้งของชุมชนมีหนองน้ำและลักษณะของดินส่วนใหญ่เป็นดินที่มีสีแดง ซึ่งแตกต่างจากที่อื่นๆ ดังนั้นเมื่อตั้งชื่อตำบลหรือชุมชน จึงนำลักษณะของหนองน้ำและสภาพดินที่มีสีแดงมาตั้งเป็นชื่อว่า “ตำบลหนองดินแดง” เป็นต้น ฉะนั้นเราจึงทราบได้ว่าท้องถิ่นนี้มีลักษณะเป็นอย่างไร

2. ภูมินามที่เกิดขึ้นตามสภาพทางสังคมศาสตร์
          สภาพสังคมศาสตร์ ได้แก่ ชาติพันธ์ (เชื้อชาติ) ที่มาอยู่อาศัยในพื้นที่ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม นิทาน เรื่องเล่าที่สืบทอดต่อกันมา ภาษาถิ่น การเปลี่ยนแปลงถ้อยคำ บุคคลสำคัญ การประกอบอาชีพ การตั้งเมืองและที่อยู่อาศัย เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ฯ ภูมินามที่เกิดขึ้นจากสภาพทางสังคมศาสตร์นี้ มีลักษณะภูมินามที่เกิดจากการนำเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ วิถีการดำเนินชีวิตของบุคคล ชุมชน สังคมในด้านต่างๆของท้องถิ่นนั้นๆ มาตั้งเป็นชื่อภูมินาม เช่น ตำบลลำพญา มีเหตุที่มาของภูมินามเพราะว่าในสมัยอดีตมีขุนนางเจ้านายมียศเป็น “พญา” ได้เดินทางมาตรวจราชการโดยใช้เรือพายเข้ามาทางลำคลองในท้องถิ่น เมื่อมีการตั้งชื่อตำบลจึงตั้งตามบุคคลสำคัญ เป็นชื่อ “ตำบลลำพญา” หรือ การตั้งชื่อโดยอาศัยหลักทางประวัติศาสตร์ เช่น ตำบลทัพหลวง เหตุที่มาเนื่องจากในสมัยอดีตมีการรบทัพกับพม่า เมื่อกองทัพหลวงได้เดินทางมาถึงบริเวณนี้ก็ได้หยุดพักทัพเพื่อให้ทหารได้พักผ่อนเอาแรง ต่อมาเมื่อมีการตั้งชื่อจึงตั้งชื่อท้องถิ่นนี้ว่า “ตำบลทัพหลวง” เป็นต้น

 

 รวบรวมเผยแพร่โดย : อาจารย์วิศิษฏ์ แก้วเอี่ยม

บรรณานุกรม
มนู วัลยะเพ็ชร์ และคณะ. การศึกษาทางภูมิศาสตร์เกี่ยวกับชื่อภูมิประเทศของจังหวัดนครปฐม, รายงานการวิจัย. ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2522.
จิรัฐิ เจริญราฏร์. ภูมินามท้องถิ่นเมืองนครปฐม, รายงานการวิจัย. สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม. 2552.