ความเดิม

              จากการที่รัชกาลที่ 4  ทรงบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์  มีการขุดคลองเจดีย์บูชาเพื่อการคมนาคมขนส่ง  นับแต่นั้นมาก็ส่งผลให้ผู้คนเริ่มทยอยเข้ามายังองค์พระปฐมเจดีย์  เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ต่อจากรัชกาลที่ 4 และได้สร้างทางรถไฟสายใต้ผ่านองค์พระปฐมเจดีย์ทางด้านทิศเหนือส่งผลให้มีความสะดวกในการเดินทางยิ่งขึ้น

                ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 6  ทรงโปรดให้ย้ายเมืองนครชัยศรีจากตำบลท่านามาอยู่ ณ องค์พระปฐมเจดีย์  ซึ่งขณะนั้นเป็นพื้นที่รกร้างได้โปรดให้พัฒนาพื้นที่โดยการวางผังเมืองใหม่  สร้างอาคารที่ทำการและตัดถนนหลายสาย  ส่งผลให้บ้านเมืองพัฒนา  จึงมีผู้คนย้ายมาอยู่ ณ บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์เพิ่มมากขึ้น  ทำให้ด้านหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ (ฝั่งพระร่วงโรจนฤทธิ์)  มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ฝั่ง เป็นถนนตรงไปยังสถานีรถไฟ (ซอยกลาง)  สำหรับในช่วงเวลานั้นผู้คนที่มาค้าขายก็จะทำการค้าขายอยู่สองข้างทางริมคลองเจดีย์บูชา  ถือได้ว่าขณะนั้นริมคลองเจดีย์บูชาหน้าองค์พระปฐมเจดีย์เป็นศูนย์รวมการค้าท้องถิ่นที่สำคัญแหล่งหนึ่ง ที่มีอายุเก่าแก่ร่วม 100 ปี

                                                              (ซ้าย) คลองเจดีย์บูชาในอดีต (ขวา) คลองเจดีย์บูชาในปัจจุบัน

                 จากนั้นสภาพบ้านเมืองสังคมบริเวณรอบองค์พระปฐมเจดีย์ก็ได้มีการพัฒนาเจริญเติบโตขึ้นโดยลำดับ และมีการสร้างตัวอาคารตลาดอย่างเป็นทางการในสมัยขุนไมตรีประชารักษ์ ข้าหลวงประจำจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม คนที่ 18 ดำรงตำแหน่ง 1 มกราคม 2491 – 20 มีนาคม 2494) ขุนเกษตรพิหารแดง เป็นผู้ดูการทรัพย์สินฯ นายใช้ ยี่ห้อฮะเส็ง เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง นายอำพล จันทร์ละออ เป็นผู้ควบคุมงาน สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2494 สถานที่ที่เป็นตลาดปัจจุบันเคยเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์มาก่อนซึ่งสร้างไว้แล้วประมาณ 70% ต่อมาถูกทิ้งร้างไป และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทำเป็นตลาดล่าง

                 รอบตลาด ด้านในขององค์พระปฐมเจดีย์ เคยมีโรงภาพยนตร์ 2 โรง สนามเด็กเล่น และโรงฝิ่น เมื่อมีกำแพงรอบองค์พระปฐมเจดีย์แล้ว มีร้านค้าโต้รุ่งไปขายอาหารด้านในแต่มีจำนวนไม่มาก อีกด้านของตลาดเคยมีโรงพยาบาลเก่า (ปัจจุบันเป็นศูนย์เด็กเล็ก) และมีสะพานเกวียน(ผู้สัญจรที่อาศัยเกวียนวัวลากม้ามักปล่อยให้วัวพักอยู่บริเวณนี้) มีสะพานแดง สะพานขาวข้ามคลองเจดีย์บูชาเพื่อให้สะดวกเดินทางสองฝั่งถนน มีพญากงท่าชี้นิ้ว (เข้าใจว่าชี้มาทางองค์พระปฐมเจดีย์) คาดว่าสร้างประมาณปี พ.ศ.2528-2530 โดยสร้างพร้อมเขื่อนกั้นน้ำ

                สำหรับชื่อตลาดเข้าใจว่าเดิมมีชื่อเดียวกันคือตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อให้ผู้มาซื้อจำได้ จึงเรียกเป็นชื่อ “ตลาดบน” และ “ตลาดล่าง” โดยฝั่งขวาเรียกว่า “ตลาดบน” ฝั่งซ้ายเรียกว่า “ตลาดล่าง” (ยืนจากคลองเจดีย์บูชาหันหน้าเข้าหาพระร่วงโรจนฤทธิ์) ซึ่งหลักการในการเรียกชื่อตลาดว่า “ตลาดบน” และ “ตลาดล่าง” นี้ มีผู้รู้กล่าวว่าเรียกจากหลักการไหลของน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ กล่าวคือ คลองเจดีย์บูชามีลักษณะเป็นคู่ขนานกับตลาด จึงดูจากการไหลของน้ำในคลองเจดีย์บูชา ตลาดที่อยู่ต้นน้ำจึงเรียกว่า “ตลาดบน” ส่วนตลาดที่อยู่ปลายน้ำเรียกว่า “ตลาดล่าง”

               ในสมัยอดีตผู้มาซื้อของต้องหาบกระบุงและเดินมาตลาดได้อย่างเดียว และมีของวางขายน้อย ใครจะมาขายอะไรก็ได้ สักประมาณบ่ายโมงก็เลิกขาย ส่วนตลาดผ้าเพิ่งมีขายได้ประมาณ ๔๐ ปี ช่วงที่พบว่าตลาดนครปฐมรุ่งเรืองสูงสุดคือช่วงปี พ.ศ.2525 หรือประมาณ 20 ปีมาแล้ว โดยของจะขายดีมากช่วงงานเทศกาลองค์พระปฐมเจดีย์ เพราะคนแต่ก่อนเมื่อมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์แล้วจะไม่มีรถกลับ ต้องอาศัยนอนตามองค์พระปฐมเจดีย์และตามร้านค้า ทำให้ร้านค้าสามารถขายของได้เกือบตลอดทั้งวันทั้งคืน
ผู้มาค้าขายในระยะแรกคือผู้ที่มาขอเช่าบ้านของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และขายของไปด้วย ต่อมาได้ขยายจุดขายเพิ่มขึ้นโดยจับจองแผงในตลาดซึ่งมีว่างอยู่มากและยึดอาชีพเดิมที่บรรพบุรุษทำ แต่อาชีพนี้กำลังจะหมดไปเพราะทายาทไม่ประสงค์ทำอาชีพนี้ต่อ เนื่องจากสภาพการค้าขายไม่ดี ผักที่เคยขายได้จะมีผลกระทบมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลอาหารและผลไม้ ตลาดผ้ามีผู้ขายเพิ่มขึ้น สังเกตพบว่ามีพ่อค้าคนกลาง (Seller) มากขึ้น ในด้านผู้ซื้อ พบว่าผู้ที่เคยซื้อประจำรุ่นแรกๆ เลิกมาเพราะเดินทางมาไม่ไหวหรืออาจเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนเด็กรุ่นใหม่ชอบไปตามศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าและตลาดนัดมากกว่าตลาด
จึงดูเหมือนสภาพตลาดที่เคยมีในอดีตกำลังจะสูญไป หากสำรวจดูจะพบว่าหลายร้านได้ปิดไปแล้วเพราะไม่มีทายาทสืบต่อ อย่างไรก็ตามยังมีร้านที่อยู่รอบนอกของตลาดอีกหลายร้านที่มีการตกแต่งห้องให้น่าเข้าไปใช้บริการ แต่ตอบไม่ได้ว่าร้านค้าที่จัดสวยงามกับร้านค้าแบบเดิมๆ ใครขายดีหรือไม่ดีกว่ากัน สำหรับการขายในสมัยก่อนจะขายดีมากในช่วงเทศกาลทั้งปีใหม่ตรุษจีน โดยเฉพาะตลาดผ้าจะขายดีมากในช่วงประเพณีสงกรานต์แม้ปัจจุบันก็ยังขายดีอยู่
เมื่อแรกทั้ง 2 ตลาดสร้างช่วง พ.ศ. 2441 – 2447 เป็นลักษณะอาคารสูงโปร่งเปิดโล่ง มุงหลังคาสังกะสี พื้นเป็นดินอัด (ภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็นพื้นซีเมนต์) ต่อมาได้ปรับปรุงให้สูงขึ้น โดยรอบตลาดก่อสร้างเป็นเรือนแถวไม้ ภายหลังได้รื้อแล้วสร้างเป็นตึกแถวโดยรอบ ตึกแถวส่วนใหญ่ที่ยังปรากฏในปัจจุบันจะมีปีที่สร้าง (พ.ศ.2500) ปรากฏในตัวตึกหลายแห่ง

                ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  ได้ดำเนินการปรับปรุงตลาดบนและตลาดล่างใหม่  เนื่องจากสภาพเดิมค่อนข้างทรุดโทรมตามกาลเวลา  โดยแนวทางการปรับปรุงจะเน้นในรูปแบบของตลาดสะอาด  สวยงาม  เพื่อให้เยาวชน  นักเรียน  นักศึกษา  เข้าตลาดมากขึ้นเพื่อให้กลุ่มดังกล่าวได้สัมผัสกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทยที่มีความผูกพันกับตลาดมาเป็นเวลานาน  ซึ่งจะเป็นการสร้างค่านิยมแบบไทย

                เป็นตลาดที่มีสินค้าหลายหลายครบวงจร  สินค้าอุปโภค  สินค้าบริโภค  อาหารสด  อาหารแห้ง  ผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ  จำหน่ายทั้งปลีกและส่ง  ราคาย่อมเยาต่อรองได้  ที่สำคัญเป็นแหล่งรวมสินค้าเกษตรกรโดยตรงจากผู้ผลิต  ทั้งพืช  ผัก  ผลไม้ และเนื้อสัตว์  (โดยเฉพาะ หมู  ซึ่งเป็นตลาดส่งที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ)  รวมถึงผลิตภัณฑ์หัตถกรรมต่างๆ จากชาวบ้าน

เก็บข้อมูลโดย : อาจารย์วิศิษฏ์ แก้วเอี่ยม

…………………………………..

บรรณานุกรม : สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จังหวัดนครปฐม