ความเป็นมาของการตั้งถิ่นฐานเมืองนครปฐม
เมืองนครปฐมเดิมตั้งอยู่ริมทะเล เป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย มีความเจริญมากในสมัยทวารวดี เพราะเป็นเมืองราชธานีที่สำคัญในสมัยนั้น เป็นแหล่งรับอารยธรรมที่เผยแพร่มาจากประเทศอินเดีย ผ่านเข้ามาที่นครปฐมเป็นแหล่งแรก รวมทั้งพุทธศาสนา นครปฐมจึงเป็นศูนย์กลางของความเจริญมีชนชาติต่าง ๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาเกิดความแห้งแล้งในเมือง เพราะกระแสน้ำเปลี่ยนเส้นทาง ประชาชนจึงอพยพออกไปหาแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ นครปฐมจึงกลายเป็นเมืองร้างมาหลายร้อยปี

ภาพ : แสดงที่ตั้งของเมืองนครปฐมเมื่อครั้งตั้งอยู่ริมทะเล

จนกระทั่งสมัยอยุธยา จากประวัติศาสตร์อยุธยากล่าวว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงจัดตั้งมณฑลต่างๆ ขึ้นหลังจากเสร็จสงครามกับพม่าคราวสมเด็จพระศรีสุริโยทัยสิ้นพระชนม์บนหลังช้างซึ่งตรงกับ พ.ศ.2091 โดยเรียกชุมชนที่ตำบลท่านา ริมแม่น้ำท่าจีนว่า มณฑลนครไชยศรี และรวมเนื้อที่ของแขวงเมืองราชบุรี แขวงเมืองสุพรรณบุรีเข้าด้วยกัน ให้มีฐานะเป็นเมืองตรีชั้นใน

สมัยกรุงธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงรัชกาลที่ 1 – 3 เป็นช่วงที่มีศึกสงคราม มีการกวาดต้อนผู้คนเชื้อชาติต่างๆเข้ามาในประเทศไทยและได้กระจายไปในพื้นที่ต่างๆ
รวมถึงเมืองนครไชยศรีด้วย


ภาพจำลองศึกสงครามสมัยกรุงธนบุรี

ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯมายังองค์พระปฐมเจดีย์ ทรงปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ และโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองเจดีย์บูชา เพื่อให้การคมนาคมสะดวกขึ้น ต่อมาถึงรัชกาลที่ 5 ได้เริ่มทำทางรถไฟสายใต้ผ่านองค์พระปฐมเจดีย์ ทรงโปรดเกล้าฯให้ย้ายเมืองจากตำบลท่านา อำเภอนครชัยศรีมาตั้งที่บริเวณรอบๆ องค์พระปฐมเจดีย์

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดฯให้สร้างพระราชวังขึ้นที่ตำบลสนามจันร์ เป็นที่เสด็จแปรพระราชฐานและโปรดฯให้ตัดถนนเพิ่มขึ้นอีกหลายสาย ต่อมาโปรดฯให้เปลี่ยนชื่อเมืองนครไชยศรีเป็น “เมืองนครปฐม”

จากประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่าปัจจัยทางการเมือง ปัจจัยความเจริญทางวัฒนธรรม ปัจจัยความเจริญด้านวิทยาการ และปัจจัยทางลักษณะกายภาพสิ่งแวดล้อม มีผลส่งให้จังหวัดนครปฐมมีกลุ่มคนหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน เช่น ลาว มอญ เขมร จีน


ภาพ : องค์พระปฐมเจดีย์ (ปัจจุบัน 2565)

สำหรับในปัจจุบันนั้นเป็นยุคโลกาภิวัฒน์การติดต่อสื่อสารไร้พรหมแดนก่อให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม ในจังหวัดนครปฐมมีบางชาติพันธุ์เท่านั้นที่มีการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของตน
และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสังเกตได้จากภาษาพูด การแต่งกาย ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม

ชุมชนคนจีนในจังหวัดนครปฐม
การอพยพของคนจีนจากผืนแผ่นดินใหญ่มาสู่ประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 2 และ 3 เป็นเหตุให้มีคนจีนกระจัดกระจายตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน เป็นจำนวนมาก ระยะแรก ๆ การเดินทางเข้ามานั้นมาโดยทางเรือตามลำแม่น้ำเป็นส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่แล้วหนุ่มชาวจีนจะแต่งงานกับสาวไทยพื้นบ้าน ซึ่งมีฐานะดี คนจีนมีนิสัยขยันขันแข็งไม่อยู่เฉย สิ่งที่ถนัดคือการค้าขาย อาชีพหนึ่งที่เป็นกิจการที่คนจีนทำคือค้าข้าวเปลือก เป็นตัวกลางรับซื้อข้าวจากชาวนาไทยส่งขายให้กับโรงสีข้าวของชาวจีน เป็นต้น อาชีพดังกล่าวนี้ทำให้มีฐานะดี ชาวจีนจะไม่ทำอาชีพทำนา แต่จะค้าขาย ต่อตู้ ต่อเรือ ขายไม้ ทำสวน ขายหมู ขายปลาทู เป็นต้น


ภาพ : โรงเจของชาวไทยเชื้อสายจีน ใน จ.นครปฐม บริเวณ ถนนราชวิถี

ชุมชนชาวจีนมักจะชุมนุมกันโดยมีโรงเจเป็นสถานที่กลาง ดังจะเห็นได้ว่าตลอดริมแม่น้ำนั้นมีโรงเจตั้งอยู่เป็นระยะ เช่น ตรงข้ามวัดงิ้วรายที่ใต้อำเภอนครชัยศรี และที่หลังตลาดใหม่สามพราน ในตลาดทุกตลาดริมแม่น้ำเจ้าของส่วนใหญ่จะเป็นคนจีนแทบทั้งสิ้น เมื่อคนจีนอยู่เมืองไทยนาน ๆ เข้าลูกและหลานจีนปนไทยได้ร่ำเรียนมีการศึกษา ความเป็นจีนก็ค่อยหมดไปทีละน้อยจนปัจจุบันเป็นคนไทยหมดทั้งสิ้น


ความนำ_ชาวมอญ
ชาวมอญนั้นตามประวัติเป็นคนเจริญที่อยู่ในกรุงหงสาวดี ประเทศพม่า ชื่อเรียกของชาวมอญ อีกชื่อหนึ่งคือ “รามัญ” มาจากชื่อเรียกประเทศของมอญว่า “รามัญญเทส” หรือรามัญประเทศ เดิมชาวมอญตั้งหลักแหล่งอยู่ในพม่าตอนล่าง ตามบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิระวดี ที่เมืองสะเทิม ทวันเททะละ และหงสาวดี
การอพยพของชาวมอญเข้าสู่ประเทศไทย มีบันทึกเป็นทางการครั้งแรก ใน พ.ศ.2127 หลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง อาจมีการอพยพก่อนหน้านี้เป็นครั้งคราวแต่ไม่มีการบันทึกไว้ การอพยพครั้งสำคัญมีดังนี้
1. สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พ.ศ.2112-2133)
2. สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.2133-2148)
3. สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2231)
4. สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.2275-2301)
5. สมัยกรุงธนบุรี
6. สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

สาเหตุของการอพยพส่วนใหญ่เนื่องมาจากได้รับการข่มเหงทางการเมือง การปกครอง เกิดสงครามระหว่างชาวพม่าซึ่งเป็นคนทางภาคเหนือกับชาวมอญกรุงหงสาวดี เป็นสงครามกลางเมืองรบกันเอง ผลปรากฏว่าชาวมอญสู้กำลังพม่าไม่ไหวเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และเมื่อครั้งเกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่า ชาวมอญจะถูกพม่าเกณฑ์ไปร่วมทำสงครามด้วย มอญที่อพยพมาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทยเข้ามาในฐานะเชลยศึก หลบหนีจากกองทัพพม่าหรือลี้ภัยทางการเมือง เส้นทางที่ชาวมอญใช้ในการอพยพมี 3 ทาง คือ ทางเหนือเข้ามาทางเมืองตาก หรือระแหง ทางด่านแม่ละเมา ทางใต้เข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี ทางด่านเจดีย์สามองค์ และเข้ามาทางอุทัยธานี


ภาพ :: สะพานไม้ใกล้ๆ วัดวัดวังก์วิเวการาม “วัดหลวงพ่ออุตตมะ” อ.สังขละ จ.กาญจนบุรี

บริเวณที่เป็นถิ่นฐานของชาวมอญในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ริมแม่น้ำ เช่น แม่น้ำแม่กลอง บริเวณอำเภอบ้านโป่ง โพธาราม ราชบุรี และกาญจนบุรี แม่น้ำท่าจีน บริเวณพระประแดง (ปากลัด) แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณนนทบุรี ปทุมธานี แม่น้ำมหาชัย สมุทรสาคร นอกจากนั้น ยังพบชาวมอญอยู่กระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ เช่น นครปฐม เพชรบุรี อยุธยา ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี นครราชสีมา นครสวรรค์ และปราจีนบุรี
มอญมีภาษาพูดและเขียนเป็นของตัวเอง ภาษาเขียนของมอญได้อิทธิพลจากอักษรอินเดียใต้ ภาษามอญที่ใช้พูดกันในประเทศไทย ได้อิทธิพลจากภาษาไทยมาก ศาสนาของชาวมอญคือ พุทธศาสน นิกายหินยาน นอกจากนั้นชาวมอญยังเชื่อและนับถือผีด้วย อาชีพของชาวมอญคือ การทำนา การทำสวนผลไม้ ชาวมอญมีความชำนาญในการทำอุตสาหกรรมในครัว เรือน เช่น ตุ่ม หม้อ ไห โอ่ง และการทำอิฐ

ชุมชนบ้านท่ามอญในจังหวัดนครปฐม  เดิมเรียกว่าตำบลท้ายคุ้ง มีบริเวณตั้งแต่บริเวณรอบวัดไทยวาส ซึ่งเดิมมีชื่อว่าวัดท่ามอญ

ชนชาติมอญตั้งบ้านเรือนกระจายอยู่ตามริมแม่น้ำนครชัยศรีมาก่อนรัชกาลที่ 3 แล้ว ตั้งแต่บริเวณวัดกกตาล วัดกลางบางแก้ว วัดไทยาวาส วัดหอมเกร็ด วัดทรงคะนอง และวัดไร่ขิง

000000
ภาพ :: วัดไทยยาวาส (วัดท่ามอญ) ริมแม่น้ำนครชัยศรี อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

จะเห็นได้ว่าหลายวัดตั้งแต่อำเภอนครชัยศรีจนถึงอำเภอสามพราน ล้วนเป็นวัดที่มีเสาหงส์ตั้งอยู่หัววัดทั้งสิ้น เสาหงส์เป็นเสาไม้กลมสูงประมาณ 10 เมตร โดยเสาใหญ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8-10 นิ้ว ที่ปลายเสาจะมีตัวหงส์กางปีกหล่อด้วยทองเหลืองประดิษฐานอยู่ เล่ากันว่าเสาหงส์เป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่าวัดนี้คนมอญจากเมืองหงสาวดีเป็นผู้สร้าง ดังนั้นตัวหงส์จึงเป็นสัญลักษณ์บอกให้พวกเดียวกันทราบว่าเป็นชาวหงสาวดีด้วยกัน


นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี สันนิษฐานว่าบริเวณที่ราบสูงโคราช เคยเป็นที่อยู่ของชาวขอม หรือชาวเขมรโบราณ ดูจากกลุ่มปราสาทขอมโบราณ ศิลาจารึก ประติมากรรมที่พบมากในบริเวณดังกล่าว
เช่น ปราสาทภูมิโปน ปราสาทไปรมัดน้อย ปราสาทพนมวัน ปราสาทหินพิมาย เป็นต้น ชาวเขมรถิ่นไทยน่าจะอพยพมาสมัยหลังในช่วง พ.ศ.2324-2325
ครอบครัวของชาวเขมรถิ่นไทยมีความคล้ายคลึงกับครอบครัวไทยพื้นเมือง คือ พ่อบ้านเป็นหัวหน้าครอบครัวแม่บ้านดูแล กิจกรรมภายในบ้าน


ภาพซ้าย : ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา
ภาพขวา : พระพักตร์ชัยวรมันที่7ของเขมร ณ ปราสาทบายน นครวัด

ชาวเขมรถิ่นไทยให้เกียรติแก่เพศชายในการดำเนินกิจกรรม หรือตัดสินเรื่องต่าง ๆ ครอบครัวเขมรถิ่นไทยมีการอยู่รวมกันหลายครอบครัว อาจประกอบด้วยปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา พ่อแม่ ลูกหลาน พี่น้องจำนวนมาก ครอบครัวใดที่มีลูกสาวหลายคน สมาชิกก็มีแนวโน้มขยายมากขึ้น การแต่งงาน (แซนการ) ของชาวเขมรถิ่นไทยนี้ ผู้เป็นฝ่ายชายต้องเสียเงินและบรรณาการให้ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นการเปิดปาก (เบิกเมือด) ฝ่ายชายต้องจัดขันหมากไปให้ฝ่ายหญิง ประกอบด้วยหมู เหล้า ขนม ข้าวต้ม ผลไม้
และเงินทอง ฝ่ายหญิงต้องล้างเท้าให้ฝ่ายชายก่อนขึ้นบ้าน
เขมรถิ่นไทยมีชีวิตเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ อาหารหลักของชาวเขมรถิ่นไทยคือ ข้าวเจ้า ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาแห้ง ปลาย่าง ปลาต้ม น้ำพริกจิ้มผัก ผลไม้ได้แก่ กล้วย น้อยหน่า มะม่วง มะพร้าวและขนม ได้แก่ ขนมโชค ขนมเนียล ขนมกันตาราง ขนมกระมอล ขนมมุก เป็นต้น

ชุมชนบ้านเขมรในจังหวัดนครปฐม
มีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 30 ครอบครัว มีอาณาบริเวณตั้งแต่ปากคลองเจดีย์บูชาสะพานรถไฟเสาวภา วัดแค ไปจนถึงวัดสัมปทวน เรียงรายไปตลอดริมแม่น้ำท่าจีน ประมาณ 1 กิโลเมตร โดยในอดีตอาชีพส่วนใหญ่จะทำการค้าขายไม่นิยมทำสวนทำนา ปัจจุบันได้ไปประกอบอาชีพการงานที่อื่น ๆ เหลือแต่ผู้สูงอายุ บ้านเรือนของชุมชนเป็นเรือนไม้จริงขนาดใหญ่แบบเรือนไทย เรือนทรงปั้นหยาแบบสมัยรัชกาลที่ 6 ปัจจุบันอยู่ในสภาพเรือนเก่าโบราณ บ้านทุกหลังจะอยู่ใกล้ชิดติดกันเป็นกลุ่มใหญ่เรียงรายอยู่ริมแม่น้ำ ปัจจุบันบ้านคนเขมรมีหน้าตาภาษาพูดและขนบธรรมเนียมประเพณี แทบไม่มีลักษณะเด่นอะไรที่บ่งบอกว่าเป็นกลุ่มชนที่แตกต่างไปจากคนไทยเลยนอกจากภาษาพูดของ คนสูงอายุเท่านั้น


ภาพซ้าย – ปากคลองเจดีย์บูชา // ภาพขวา – สะพานรถไฟเสาวภาข้ามแม่น้ำนครชัยศรี

ประเพณี / ความเชื่อ
ชาวเขมรถิ่นไทยนับถือศาสนาพุทธ ช่วงเข้าพรรษาจะมีประเพณี “กันซง” ซึ่งเป็นประเพณีการถือศีล นำอาหารไปทำบุญ ที่วัด 8 วัน หรือ 15 วัน นอกจากนั้นยังมีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ จะมีประเพณีไหว้บรรพบุรุษ เรียกว่า ประเพณีเบ็นหรืองาน “แคเบ็น” ซึ่งตรงกับสารทไทย พิธีมงก็วลจองได เป็นพิธีสู่ขวัญแบบพื้นบ้าน นิยมจัดในงานมงคล เช่น งานมงคลสมรส ขวัญนาค โกนจุก ยกเสาเอก ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น พิธีมอม็วด เป็นพิธีที่ทำเพื่อหาสาเหตุการเจ็บป่วย โดยผู้เข้าทรงจะเชิญวิญญาณมา
เข้าสู่ร่าง และจะมีผู้คอยซักถามว่าเหตุใดถึงได้เจ็บป่วย นอกจากนั้น ชาวเขมรถิ่นไทยยังเชื่อเรื่องโชคราง ของขลัง ฤกษ์ยามเครื่องราง ของขลังบางอย่างสามารถป้องกันภัยและรักษาโรคได้

การแต่งกายของชาวเขมรถิ่นไทย ผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุง (ซำป๊วด) ซึ่งเป็นผ้าไหมพื้นเมืองที่มีชื่อคือ ผ้าโฮล ผ้าอำปรุม ผ้าซิน ผ้าซาคู ส่วนผู้ชายนุ่งโสร่ง สำหรับเสื้อ ผู้หญิงใส่เสื้อแขนกระบอก ผู้ชายใส่เสื้อคอกลม เครื่องประดับจะเป็นเครื่องเงิน เรียกว่า ประเก็อม (ประคำ) นำมาร้อยเป็นสร้อย ต่างหู เป็นต้น

เขมรถิ่นไทยมีการละเล่น ได้แก่ จเรียง เป็นการขับร้องหรือแหล่กลอนสด เนียะจเรียง หมายถึง ผู้ขับร้อง ภาษาที่ใช้เป็นภาษาเขมร จเรียงมีด้วยกันหลายประเภท เช่น จเรียงนอรแกว เป็นการร้องโต้ตอบระหว่าง ชายหญิง จเรียงอาไย มีการรำประกอบการร้อง จเรียงซันตูจ เป็นการสนุกสนานของหนุ่มสาวซึ่งไปช่วยแต่งงานและงานมงคลในยาม ค่ำคืน จเรียงตรัว จะเป็นการร้องประกอบเสียงซอ จเรียงจรวง เป็นการร้องประกอบเสียงปี่ นอกจากนั้นยังมี กันตรึม


ภาพ : การละเล่นของชาวไทยเขมรถิ่นไทย

เป็นการละเล่นประกอบดนตรี รำตรุษ เล่นในเทศกาลสงกรานต์ (แคแจด) รำสาก เป็น การรำประกอบเสียงดนตรี และเสียงกระทบสาก ผู้รำประกอบด้วยชายหญิงรำเป็นคู่ ๆ รอบวงกระทบสาก


ชุมชนลาว

จากหลักฐานในประวัติศาสตร์ กลุ่มชาวลาวอพยพเคลื่อนย้ายเข้าสู่ไทยในสมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นช่วงรัชกาลที่ 3 เนื่องจากถูกกวาดต้อนมาพร้อมกับการทำสงคราม ประกอบด้วยลาวภูครัง (ลาวครั่ง) ลาวเวียง (ลาวเวียงจันทร์) ลาวโซ่ง (ไทยโซ่ง)


ภาพ แผนที่แสดงอาณาเขตติดต่อไทย-ลาว

และกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย รวมถึงพื้นที่ในจังหวัดนครปฐม สำหรับเหตุการณ์ในยุคปัจจุบันเป็นยุคเจริญด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสามารถเชื่อมโยงกันได้ทั่วโลก มีผลกระทบให้วัฒนธรรมเกิดการเคลื่อนที่ถ่ายโอนแลกเปลี่ยน ผสมผสานระหว่างกันและกันของกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ ขณะเดียวกันกลุ่มชนชาวลาวบางกลุ่มก็ยังยึดถือปฏิบัติตามวัฒนธรรมเดิมของตน
ได้อย่างเหนียวแน่นมาจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนบ้านโคกแขก
มีวัดโคกแขกเป็นศูนย์กลาง วัดนี้ปัจจุบันชื่อ “วัดประชานาถ” ชาวบ้านทั่วไปเรียกวัดโคกแขก


ภาพ : ซุ้มวัดประชานาถ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

ปัจจุบันไม่มีผู้คนที่หน้าตาเป็นแขกอย่างคนอินเดียแต่อย่างใด สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแขกครัว เช่นเดียวกับแขกครัวที่ชุมชนบ้านครัวบริเวณยศเส ปทุมวัน ยมราช คือเป็นชาวอิสลามมากกว่า ซึ่งคนไทยเรียกว่า “แขก” หน้าตาเป็นคนไทยแต่ผิวคล้ำพอมีอยู่บ้างในแถบใกล้ ๆ วัดโคกแขกดังกล่าว

0000000
ซ้าย : ภาพตลิ่งริมแม่น้ำนครชัยศรี ———- ขวา : ภาพ ศาลาการเปรียญวัดประชานาถ

เหตุที่เรียกว่าโคกเพราะบริเวณนั้นเป็นที่สูง เป็นฝั่งคุ้งที่มีน้ำกัดเซาะตลิ่งพังลงแม่น้ำอยู่เสมอมา ตามประวัติจากคำบอกเล่ากล่าวว่าที่วัดโคกแขกนี้แต่ก่อนครั้งมีมณฑลนครชัยศรี ที่โคกแขกนี้เป็นสถานที่ประหารชีวิตคนประจำมณฑล คงจะเป็นป่า ปัจจุบันไม่มีร่องรอยการก่อสร้างที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์แต่อย่างใด

บรรณานุกรม

ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธ์ในประเทศไทย. ศูนย์มานุษย์วิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). เข้าถึงได้ที่ (http://www.sac.or.th/database/ethnic/framemm.html). วันที่ 17 พฤศจิกายน 2548.

ธิดา ชมภูนิช. การศึกษาศิลปหัตถกรรมไทยโซ่งในจังหวัดนครปฐม. สำนักศิลปวัฒนธรรม
สถาบันราชภัฏนครปฐม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษร, 2539

ไพจิตร ปอศรี. ประวัติศาสตร์เมืองนครปฐม. สถาบันราชภัฏนครปฐม. 2540

เรณู เหมือนจันทร์เชย. โลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย : ความเชื่อเรื่องผีของไทยโซ่ง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2542

แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดนครปฐม. สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏนครปฐม, หน่วยอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดนครปฐม. นครปฐม: เพชรเกษมการพิมพ์, 2542

รวบรวมเผยแพร่โดย : อาจารย์วิศิษฏ์ แก้วเอี่ยม